Sign In
SEC News

ก.ล.ต. ออกเกณฑ์กำกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการ



Wednesday 23 March 2022 | ฉบับที่ 39 / 2565


ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันและเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรุปสาระสำคัญดังนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น 

(2) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน  

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

________________________

คำถาม-คำตอบ

กรณีการออกเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

(Means of Payment) 

 

1. การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment)
จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างไร

คำตอบ

          หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง จะมีความเสี่ยงต่อผู้เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ดังนี้

        1) เสถียรภาพระบบการชำระเงิน

        หากสินทรัพย์ดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าบริการอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลต่อการดูแลระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงและปลอดภัย เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีสาธารณะแบบกระจายศูนย์ (public blockchain) ทำให้ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้ หากเกิดปัญหา ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ ยังทำให้มีระบบการชำระเงินหลายระบบ (fragmentation) และซ้ำซ้อน อาจสร้างความสับสนหรือทำเกิดต้นทุนหากผู้บริโภคต้องใช้หลายระบบ ทำให้ต้นทุนการชำระเงินโดยรวมของประเทศสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินด้วย

        2) เสถียรภาพทางการเงิน และความสามารถในการดูแลภาวะการเงินของประเทศ

        การเกิดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) หรือหน่วยการตั้งราคาที่นอกเหนือจากสกุลเงินบาท
จะเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและธุรกิจ จากการแลกเปลี่ยนไป-มาระหว่างสกุลต่าง ๆ นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสกุลเงินบาทที่ลดลง จะลดทอนประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมถึงลดความสามารถของ ธปท. ในการดูแลให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในประเทศ ธปท. จะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบาทได้

        มุมมองความเสี่ยงข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสมเช่นกัน 

        3) ผู้ใช้หรือรับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ

            3.1) ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้ หรือรายรับของผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง แม้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายมีบริการที่ช่วยแลกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทก่อนส่งมอบแก่ร้านค้า แต่ยังอาจมีต้นทุนแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมในการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัล
เพื่อป้องกันความผันผวน ที่อาจเก็บจากผู้ใช้หรือผู้รับชำระได้

           3.2) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบหยุดชะงักทำให้เสียโอกาส

            3.3) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนหรือรับโอนจากกระเป๋าส่วนตัว (private wallet) ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน จึงมีโอกาส
ที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน และเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนทางการเงินให้กับการก่อการร้าย รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต่าง ๆ เป็นต้น


2. แนวทางนี้ สะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่

คำตอบ

        ประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลฯ กังวล คือ ความเสี่ยงจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ระบบชำระเงินปัจจุบันของไทยมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มประโยชน์มากนักให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ธปท. และ ก.ล.ต. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น blockchain และให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรม
และไม่ได้ปิดกั้นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการลงทุน สะท้อนจากการที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีกฎหมายรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดย ก.ล.ต. เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหมาะสม และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ธปท.
 เป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี blockchain หรือการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินด้วย 


3. ก.ล.ต. มีแนวทางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร

คำตอบ

        ก.ล.ต. ยึดหลักสนับสนุนการพัฒนาควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน และมีแนวทางกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบัน ให้เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการด้านนวัตกรรมทางการเงิน โดยยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม  


        อย่างไรก็ดี ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้กำหนดหน้าที่ในลักษณะเป็นหลักการ (principle based) โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากร
ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


4. เกณฑ์นี้มีผลกระทบกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร

คำตอบ

        เกณฑ์นี้กำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลห้ามให้บริการเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ดังนั้น ผู้ซื้อขาย/ผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน/ซื้อขายได้ตามปกติ เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาต สามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการได้ตามปกติ


5. เหตุใดจึงออกหลักเกณฑ์บังคับใช้ และมีกำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือไม่

คำตอบ

          การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ประเมินความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง โดยได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ และร้านค้าแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจึงเห็นพ้องร่วมกันว่า หากไม่ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าว จะเกิดความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ จึงเห็นควรคงหลักการดังกล่าวไว้เช่นเดิม

          ทั้งนี้ ในส่วนของการมีผลใช้บังคับ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจขอขยายระยะเวลาออกไป เพื่อให้มีเวลาดำเนินการให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบ และได้ขยายระยะเวลาการมีผลใช้บังคับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว จากเดิม 15 วัน เป็น 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

************************************






Related News

SEC public hearing on draft regulations on enhancement of knowledge and experience within the SET Board of Governors
SEC collaborates with government agencies to restrict access to unlicensed digital asset service platforms
SEC amends regulations on ICO Governance
SEC revises regulations on sustainability-themed bonds, giving opportunities for SMEs and startups to access funding and contribute to sustainable development
SEC Check First now available on Citizen Portal