ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในหลายมิติ (หมวด 5 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 153 - 188) ได้แก่
(1) การแต่งตั้งกรรมการของตลาดหลักทรัพย์
กฎหมายกำหนดให้กรรมการตลาดหลักทรัพย์มาจาก 2 ทาง คือ (1) คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน และ (2) สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์เลือกตั้งไม่เกิน 5 คน เพื่อให้เกิดการคานอำนาจระหว่างผู้กำกับดูแลและผู้ประกอบธุรกิจ และให้มีผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์โดยตำแหน่ง (มาตรา 159)
(2) การให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์
ในการกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัทสมาชิก ตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เช่น การรับและเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน อัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน การกำกับดูแลสมาชิก การกำหนดเกี่ยวกับค่าเข้าเป็นสมาชิก หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์จดทะเบียน เป็นต้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง (มาตรา 170)
(3) การรายงานการดำเนินงาน
(4) การกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์เป็นด่านแรกในการติดตามการซื้อขาย (front line market surveillance) เพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งต้องส่งผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์และผู้ส่งคำสั่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ โดยหากพบการซื้อขายที่ไม่ปกติและต้องดำเนินการตามกฎหมายหรือต้องตรวจสอบในรายละเอียดมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์จะส่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการต่อ
ทั้งนี้ ในกรณีที่อาจเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนหรือเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้คณะกรรมการหรือผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์กระทำการตามที่เห็นสมควร ส่วนในกรณีที่อุปกรณ์ในระบบซื้อขายมีเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่อาจซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์มีอำนาจสั่งหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวได้ และรายงานต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทันที
(5) การตรวจสอบการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์
เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สำนักงาน ก.ล.ต. มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ในด้านการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและบริษัทสมาชิก การเปิดเผยข้อมูล และระบบการซื้อขาย โดยได้นำ IOSCO Principles มาใช้กำหนดขอบเขตการตรวจสอบและความคาดหวังที่มีต่อการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์
ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตลาดอนุพันธ์ (Derivatives Exchange)
คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสำนักงาน ก.ล.ต. กำกับดูแลบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดังนี้
1. การแต่งตั้งกรรมการของตลาดอนุพันธ์
กรรมการของตลาดอนุพันธ์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 (มาตรา 61 และประกาศ กย. 51/2547) หากกรรมการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรง หรือกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริต คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถสั่งถอดถอนกรรมการของตลาดอนุพันธ์ได้ (มาตรา 62)
2. การให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ของตลาดอนุพันธ์
การกำหนดหลักเกณฑ์ของตลาดอนุพันธ์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (มาตรา 63 มาตรา 64 และประกาศ สด. 46/2552) และในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถสั่งให้ตลาดอนุพันธ์กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ยกเลิกหรือแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมได้ (มาตรา 65)
3. การออกสินค้าในตลาดอนุพันธ์
ตลาดอนุพันธ์จะจัดให้มีการซื้อขายสินค้าเมื่อได้รับความเห็นชอบในสาระสำคัญจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว (มาตรา 67 และประกาศ สย. 12/2548) และในกรณีที่สินค้าใดไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถยกเลิกการให้ความเห็นชอบได้ (มาตรา 68)
4. การเปิดเผยข้อมูลและการรายงาน
ตลาดอนุพันธ์ต้องเปิดเผยงบดุล งบกำไรขาดทุน และรายงานของผู้สอบบัญชี ณ ที่ทำการ ภายใน 21 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ไม่เกิน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี (มาตรา 74 และประกาศ กธ. 50/2548) และต้องจัดส่งงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลา 1 ปี ต่อสำนักงาน(มาตรา 89 และประกาศ กธ. 50/2548)
5. การกำกับซื้อขายสินค้า
ตลาดอนุพันธ์เป็นด่านแรกในการติดตามการซื้อขาย (front line market
surveillance) เพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากพบการซื้อขายที่ไม่ปกติและต้องดำเนินการตามกฎหมายหรือต้องตรวจสอบในรายละเอียดที่มากขึ้น ก็จะส่งให้สำนักงานดำเนินการต่อ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน เศรษฐกิจของประเทศ หรือเสถียรภาพของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนสามารถสั่งให้ตลาดอนุพันธ์งดการซื้อขาย ล้างฐานะ จำกัดช่วงราคาการซื้อขาย แก้ไขหรือพักการบังคับใช้หลักเกณฑ์ของตลาดอนุพันธ์เป็นการชั่วคราวได้ (มาตรา 70)
6. การตรวจสอบการดำเนินงานของตลาดอนุพันธ์
เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของตลาดอนุพันธ์มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สำนักงานมีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของตลาดอนุพันธ์ในด้านระบบการซื้อขาย การกำกับดูแลบริษัทสมาชิก และการตรวจสอบการซื้อขาย