Sign In
หน้า 'ABOUTUS/HR-MANAGEPOLICY-OPERATION-2566-Q1' ยังไม่มีข้อมูลใน Library 'Site_Menu_Detail' กรุณาเพิ่มข้อมูลใน Library ดังกล่าว
การดำเนินการตามนโยบายหรือแผนการบริหารทรัพยากรบุคคล ปี 2566 ไตรมาส 1

​​​​​สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตามนโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นตามหลักการสำคัญในด้านการบริหารบุคคล กฎ ข้อบังคับ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงานเป็นไปตามพันธกิจการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ​ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 มีผลการดำเนินการ ดังนี้

นโยบายการจัดองค์กร

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงสร้างองค์กรและได้รับอนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เพื่อให้มีการจัดองค์กรอย่างเหมาะสม อาทิ ยกระดับให้มีความมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการทำงานร่วมกัน โดยปรับบางสายงานให้มี Span of Control ที่เหมาะสม และลด Hierarchy เพื่อให้มีการประสานงานที่รวดเร็วขึ้น รวมถึงควบรวมและจัดสรรงานประเภทเดียวกันไว้ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเพิ่มการร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อลดงานแบบ silo เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ​

นโยบายการจ้างงานและการคัดเลือกพนักงานใหม่

สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นองค์กรที่มีการจ้างที่โปร่งใส เป็นธรรมและให้โอกาสผู้ที่มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของสำนักงานอย่างเท่าเทียมกัน ดังนี้

1. กระบวนการสรรหาเป็นกระบวนการที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

2. การคัดเลือกพนักงาน คำนึงถึงการเลือกคนดีมีจริยธรรม มีค่านิยมร่วม ความสามารถหลัก (Core Competency) และความสามารถเฉพาะทาง (Functional Competency) เหมาะสมที่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เปิดรับปัจจุบัน

3. การจ้างงาน (การรับพนักงานหรือลูกจ้าง) เป็นสัญญาต่างตอบแทน ดังนั้น ความผูกพันและเงื่อนไขข้อตกลงในเรื่องต่าง ๆ จึงจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย โดยการจ้างพนักงานจะกำหนดระยะเวลาทดลองงาน 3-6 เดือน โดยปัจจัยการประเมินประกอบด้วย ความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถในการปรับตัว ความสามารถในการสื่อสารความคิดและการนำเสนองาน ความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจ วุฒิภาวะทางอารมณ์ และพฤติกรรมตามประมวลจริยธรรม

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 1 มีพนักงานใหม่มาเริ่มงานรวม 30 ราย เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ

นโยบายการพัฒนาพนักงาน

ในปี 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยมีแผนการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร ในกลุ่มทักษะแห่งอนาคตเพื่อการทำงานยุคใหม่ และเพื่อมุ่งสู่ประสิทธิภาพและความยั่งยืนขององค์กร และเตรียมความพร้อมบุคลากรให้มีความสามารถที่จะ “คิดต่อยอด พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง รู้จริงในงาน ทำงานเชิงรุก มีความเป็นมืออาชีพ สร้างการมีส่วนร่วม ตัดสินใจด้วยข้อมูลและขับเคลื่อนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม" เพื่อการเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเป้าหมายองค์กรไปสู่องค์กรนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการเปิดกว้างรับความคิดเห็นใหม่ ๆ และการกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและเสริมสร้างนวัตกรรมในงาน เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้ โดยได้จัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาพนักงาน ทั้งการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ การให้ทุนฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยได้จัดสรรงบประมาณดังกล่าวไว้ในปี 2566 จำนวนประมาณ 66 ล้านบาท

แผนพัฒนาบุคลากรของสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากความรู้ในงาน (Technical Competency) ทักษะการทำงานตามสมรรถนะหลัก (Core Competency ของพนักงาน หมวดตำแหน่ง ในปี 2566 ยังมุ่งเน้นในเรื่องสำคัญ ๆ ได้แก่ 1) การพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมและดิจิทัล 2) การพัฒนาทักษะสำหรับการทำงานในอนาคต (Future Skills) 3) การยกระดับความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล 4) การพัฒนามุมมองระดับสากลด้วยหลักสูตรอบรมและทุนฝึกอบรมในต่างประเทศ และ 5) การพัฒนาภาวะผู้นำและการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ของผู้บริหารกับ Stakeholder ด้วยหลักสูตร networking ต่าง ๆ โดยได้สื่อสารให้พนักงานทราบแผนการพัฒนาดังกล่าว เพื่อการบริหารจัดการเวลาในการเข้ารับการฝึกอบรม/พัฒนาได้อย่างเหมาะสม ดังนี้ 

1. การพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เน้นให้บุคลากรมีกรอบความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมด้านนวัตกรรม รวมถึงการมีทักษะที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและสอดคล้องกับ Digital Capabilities Roadmap และสามารถส่งมอบนวัตกรรมที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่ผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในงานของตนได้สูงสุด โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณ​รวม 5,057 บาท

1.1   กลุ่มผู้บริหาร มุ่งเน้นการพัฒนาการเป็นผู้นำในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่เน้นทั้งการพัฒนาองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายกับผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ   เช่น หลักสูตร Digital Transformation Leadership ณ ประเทศสิงคโปร์ หลักสูตรการสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่รัฐบาลดิจิทัล (DTP) หลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e- GEP) หลักสูตร Digital CEO หลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) เป็นต้น

1.2   กลุ่มพนักงานทั่วไป มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย (Digital & Data Literacy) โดยพนักงานเข้าใหม่ ได้เข้าอบรมชุดหลักสูตรออนไลน์ Digital & Data Capability 101 และบุคลากรทุกระดับ เข้าอบรมหลักสูตรออนไลน์ความรู้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) สำหรับพนักงานที่เข้างานใหม่ ยังไม่เคยผ่านการอบรม

1.3 กลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการประเมินความเสี่ยง การป้องกันภัยคุกคามทาง Cyber ทักษะการสร้างและพัฒนาระบบงานและแอปพลิเคชัน การพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล ให้คำแนะนำ ตรวจสอบติดตามและประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยการใช้เทคโนโลยี โดยมีการส่งพนักงานระดับเจ้าหน้าที่เข้าอบรมหลักสูตร Digital ID และ หลักสูตร All-In-One Cybersecurity นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาพนักงานที่สนใจงานด้านกำกับและตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ  เข้าอบรมในหลักสูตร IT Audit for Non-IT Audit" เพื่อยกระดับทักษะการทำงานและเปิดโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ ให้แก่พนักงานอีกด้วย

2. การยกระดับสมรรถนะแห่งอนาคตให้แก่พนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานยุคใหม่ มุ่งเน้นให้บุคลากรมีกรอบความคิด และความสามารถในการทำงานที่สอดคล้องกับโลกการทำงานยุคใหม่ เน้นทักษะ “คิดรอบวิเคราะห์เป็น สื่อสารเก่ง ตอบสนองเร็ว"  โดยก่อนที่จะได้เรียนรู้และฝึกทักษะ ในไตรมาสที่ 1 สำนักงานได้จัดให้มีหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนากรอบความคิดสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับต้น ได้แก่ หลักสูตร“Outward & Public Service Mindset" โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 320,198 บาท

3. การพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันพัฒนาการด้านตลาดทุน (เน้นด้านสินทรัพย์ดิจิทัล)

เป้าหมายเพื่อให้บุคลากรมีความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจและเป้าหมายองค์กรได้สำเร็จ รวมทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วน โดยไตรมาสที่ 1 ได้จัดให้มีการฝึกอบรมภายในสำนักงาน (in-house Training) เพื่อพัฒนาความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง ได้แก่ ชุดหลักสูตร “Digital Asset (ระดับ Advanced)" โดยเน้นความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในระบบนิเวศของเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำกับดูแล (ตั้งแต่ต้นน้ำ-อนุมัติ ถึงปลายน้ำ-บังคับใช้กฎหมาย) รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และมีการส่งพนักงานในสายนวัตกรรมทางการเงิน ไปเข้าอบรมหลักสูตร Decentralize and Blockchain ที่จัดโดยสถาบันภายนอก เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมด้านการเงินและนวัตกรรมทางการเงิน โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 507,633 บา

4. การพัฒนามุมมองระดับสากล ด้วยหลักสูตรฝึกอบรม/ทุนอบรมในต่างประเทศ

มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ ทักษะ และเปิดมุมมองด้านนโยบาย กำกับดูแลตลาดทุนในระดับสากล โดยในไตรมาสที่ 1 สำนักงานได้ส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมและรับทุนอบรมในต่างประเทศ โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 136,500 บาท ดังนี้

a. หลักสูตรฝึกอบรมต่างประเทศ ได้แก่ สัมมนาหัวข้อ Improvement of Securities Supervision ที่ประเทศญี่ปุ่น /สัมมนา UNODC หัวข้อ UNODC Awareness Raising Event on Online Scam, Phishing, and Identity Theft /สัมมนา MAS-BIS Open Tech Digital Transformation Workshop

b. ทุนอบรมในต่างประเทศ ได้แก่ ทุนการศึกษา Temasek Regional Regulators Scholarship Programme (TRRS) ในหลักสูตร Advanced Diploma in Finance and Markets (FMP) 2023

5. การพัฒนาภาวะผู้นำและการพัฒนาการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้บริหารกับ Stakeholders (Managerial/Leadership & Networking Program) มุ่งเน้นทั้งเรื่องการบริหารบุคลากร การพัฒนาภาวะผู้นำและการสร้างความร่วมมือกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่องาน โดยไตรมาส 1 ส่งผู้บริหารเข้ารับการพัฒนาและฝึกอบรม โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 1,024,000 บาท   ดังนี้

a. กลุ่มผู้บริหารระดับสูง เน้นการพัฒนาผู้บริหารผ่านการเข้าอบรมในหลักสูตรพัฒนาผู้นำร่วมกับสถาบันภายนอก เพื่อพัฒนาทักษะผู้นำและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านพลังงาน (วพน.)

b. กลุ่มผู้บริหารระดับกลางและต้น เน้นพัฒนาความรู้ในเรื่องบทบาท รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะสามารถการนำไปใช้ได้ในการบริหารงานและการบริหารบุคลากร ได้แก่ หลักสูตร Leadership Awareness รวมทั้งหลักสูตรเตรียมความพร้อมกลุ่มพนักงานระดับอาวุโสที่มีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นผู้บริหารในอนาคต ได้แก่หลักสูตร Self Leadership​

6. การพัฒนาสมรรถนะหลักของพนักงาน (Core Competency)
เน้นการให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศตลาดเงินและตลาดทุน การดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล และภารกิจและหลักการกำกับดูแล ได้แก่ หลักสูตร Regulatory School ที่ ก.ล.ต. ออกแบบและจัดทำขึ้นเอง โดยกำหนดเป็นหลักสูตรต่อเนื่องเน้นกลุ่มพนักงานใหม่และพนักงานระดับต้น ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วย โดยไตรมาส 1 ยังเน้นการอบรบออนไลน์ บนระบบบริหารจัดการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) ของสำนักงาน และมีการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “Regulatory Design” สำหรับผู้ปฏิบัติงานในงานนโยบายและงานกำกับ โดยวิทยากรภายในสำนักงาน โดยในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ

7. การพัฒนาด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน (Functional Competency)

ส่วนงานต่าง ๆ สามารถวางแผนและจัดการพัฒนาพนักงานในสังกัดให้สอดคล้องกับเป้าหมาย แผนงานและสมรรถนะด้าน Functional Skills ของส่วนงาน โดยการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเองได้ โดยส่วนงานจะดูแลการพัฒนาด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน ในหลักสูตรที่เป็นแนวคิดและหลักการในการทำงานในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulatory Principle) ให้แก่พนักงานในกลุ่มต่าง ๆ โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 1,080,787 บาท

8. สนับสนุนการแลกเปลี่ยนพนัก​งานระหว่างองค์กร โดยมีโครงการแลกเปลี่ยนพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและองค์กรต่างประเทศ เพื่อเปิดมุมมองและประสบการณ์การทำงานที่กว้างขึ้นให้แก่พนักงาน โดยดำเนินการต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ซึ่งสำนักงานได้ส่งพนักงานระดับเจ้าหน้าที่ 1 ราย ปฏิบัติงานในโครงการ Secondment กับ IOSCO General Secretariat ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระยะเวลา 2 ปี (พฤศจิกายน 2565- พฤศจิกายน 2567) และได้ต่อสัญญาโครงการแลกเปลี่ยนพนักงานระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการ  1 รายจากฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ เพื่อไปฝึกปฏิบัติงาน (secondment) กับ IOSCO General Secretariat ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 2,160,840 บาท 

9. สนับสนุนการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องของพนักงาน

มีการกระตุ้นให้พนักงานกำหนดแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล (IDP) มีการจัดชุดหลักสูตรการพัฒนาตามกรอบ competency เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้พนักงานสามารถเข้ารับการพัฒนาได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยยังคงเน้นรูปแบบการเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งระดับประเทศและระดับสากล โดยมีค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 5,500 บาท ระยะเวลา 1 ปี

10. การสร้างเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของบุคลากร (Career Development Plan)

ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ได้มีการดำเนินโครงการวางแผนเส้นทางอาชีพให้แก่บุคลากรแต่ละกลุ่มงาน เพื่อให้เห็นเส้นทางการเติบโตและเตรียมพัฒนาตนเองไปในสายอาชีพที่สนใจ โดยจัดให้มีคลินิกให้คำปรึกษา (Career Clinic) เรื่องการวางเป้าหมายทางสายอาชีพ และการพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายสายอาชีพที่วางไว้ และมีการให้คำแนะนำพนักงานใหม่เกี่ยวกับโอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career for newcomers) ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ 

11. การเสริมสร้างค่านิยมองค์กร

สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงปลูกฝังและส่งเสริมค่านิยมองค์กร (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) แนวทางการทำงาน (รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ) รวมทั้งวัฒนธรรมการทำงานในองค์กร แบบ Agile Culture ให้แก่ผู้บริหารและพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการงาน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับโลกการทำงานในยุคปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารูปแบบการทำงานจะปรับเปลี่ยนตามกระแสที่เปลี่ยนไปของโลกการทำงานยุคปัจจุบันอย่างไร สำนักงานยังคงเน้นย้ำและสื่อสารกับผู้บริหารและพนักงานทุกคนในการปฏิบัติงานด้วยความซื่อตรง เป็นรากฐานสำคัญและเป็นหัวใจในการทำงานในองค์กรแห่งนี้ และให้พนักงานทุกคนลงนามรับรองจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ 


นโยบายส่งเสริมจริยธรรมพนักงาน​

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการส่งเสริมการขับเคลื่อนจริยธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1.   แต่งตั้งคณะทำงานให้คำปรึกษาตอบคำถามทางจริยธรรมและขับเคลื่อนจริยธรรม เพื่อทำหน้าที่

ให้คำปรึกษาและตอบคำถามทางจริยธรรม กำหนดแนวทางในการพัฒนามาตรฐาน รูปแบบ และสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยมีรายชื่อตามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานให้คำปรึกษาตอบคำถามทางจริยธรรมและขับเคลื่อนจริยธรรม นไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ

2.   จัดทำแนวปฏิบัติ Dos & Don'ts ตามประมวลจริยธรรม  เพื่อใช้เป็นแนวทางประพฤติตนได้ถูกต้องตามจริยธรรมอันดีงาม รายละเอียด ดังนี้ แนวทางการปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมสำนักงาน ก.ล.ต. สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ

3.   จัดฝึกอบรมที่มีการสอดแทรกสาระด้านจริยธรรมให้แก่พนักงานในกลุ่มต่าง ๆ  ดังนี้  

3.1 กลุ่มพนักงานใหม่ - ปลูกฝังและสร้างความตระหนักในเรื่อง ค่านิยม จรรยาบรรณ การนำหลัก

ธรรมาภิบาลมาปรับใช้ในการทำงาน ปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรมและโปร่งใส รวมทั้งการปรับตัวในการทำให้แก่พนักงานใหม่ ผ่านโปรแกรม on boarding ดังนี้

1)  จัดฝึกอบรม บรรยาย ให้กับพนักงานใหม่วันแรกของการเริ่มทำงาน ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน โดยเป็นการบรรยายภาพรวมงานของสำนักงาน ชีวิตการทำงานในสำนักงาน การใช้งานคอมพิวเตอร์พื้นฐาน แนะนำระบบงานภายในสำนักงาน ประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของสำนักงานที่พนักงานต้องยึดถือปฏิบัติ โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 2,000 บาท ​ และมีกิจกรรมต่างจังหวัด เน้นปลูกย้ำค่านิยมองค์กร และ soft skill เพื่อใช้ในการทำงานในโลกปัจจุบันของคนรุ่นใหม่. โดยกลุ่มแรกจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2566

2)  จัดโครงการ SEC Mentoring เป็นกิจกรรมเพื่อให้พนักงานใหม่เรียนรู้แนวคิดในการทำงานเชิงลึกจากพี่เลี้ยง สามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำในการปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานของสำนักงานหรือกระบวนการทำงานต่าง ๆ และเป็นต้นแบบที่ดีในการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารและการทำงาน ซึ่งพี่เลี้ยง (mentor) เป็นผู้บริหารระดับผู้อำนวยการที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณรวม 1,240 บาท 



​​


3)  ส่งเสริมให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นต้นแบบและส่งต่อแนวคิดในการทำงานที่ยึดมั่นในจริยธรรม โดยการสื่อสารผ่านคลิปสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งนำไปใช้ประกอบการบรรยายให้พนักงานใหม่ในวันแรกของการทำงาน (ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน และดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งปี) ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ




 

3.2 กลุ่มพนักงานทุกระดับ -  ให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องจริยธรรมในการทำงานให้แก่พนักงาน ก.ล.ต. ทุกคน ด้วยการจัดอบรมหลักสูตร “การเสริมสร้างมาตรฐานจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ" สำหรับพนักงานทุกคน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 66 ระยะเวลา 3 ชั่วโมง บรรยายโดยคุณฐิติมา ศิริวิโรจน์ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สำนักงาน ก.พ. ดำเนิน​​การอบรม

3.3 จัดทำแบบประเมินจริยธรรมของผู้สมัครขอรับทุนการศึกษาประจำปีของสำนักงาน โดยผู้อำนวยการฝ่ายของผู้สมัครขอรับทุนจะเป็นผู้ประเมิน โดยเริ่มใช้ประเมินผู้สมัครขอรับทุนการศึกษาประจำปี 2566 ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ

 

นโยบายการประเมินผล

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานปี 2566 ให้มีการประเมินพฤติกรรมด้านจริยธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงาน และสื่อสารให้พนักงานทราบแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ


 

นโยบายการเลื่อนตำแหน่ง

ในการสรรหาและคัดเลือกพนักงานหมวดอำนวยการบริหาร หมวดอำนวยการ และหมวดบริหารจัดการ ในไตรมาส 1 ปี 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินการสรรหาพนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงานกำหนด โดยดำเนินการสรรหาจากภายในสำนักงาน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้ดำเนินการสอบสัมภาษณ์และได้คัดเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีจริยธรรมในการบริหารที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นรวมทั้งสิ้น 28 คน ประกอบด้วย หมวดอำนวยการบริหาร 8 คน หมวดอำนวยการ 6 คน และหมวดบริหารจัดการ 14 คน ในไตรมาสที่ 1/2566 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ


นโยบายการบริหารเงินเดือนค่าจ้าง

สำนักงานได้จ้างที่ปรึกษาทบทวนและศึกษาโครงสร้างค่าตอบแทนของพนักงานเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 - ก.พ. 2566 โดยที่ปรึกษาได้ส่งมอบรายงานผลการศึกษาทบทวนและออกแบบโครงสร้างค่าตอบแทนแก่สำนักงานเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โดยไตรมาส 1/2566 ใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษา (จ่ายงวดที่ 3) 856,000 บาท ซึ่งสำนักงานได้นำผลการศึกษามาพิจารณากำหนดแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดึงดูดและรักษาพนักงานด้วยการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมตามผลงาน (variable pay) ให้แก่พนักงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยใช้งบประมาณค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 132 ล้านบาท และออกแบบโครงสร้างเงินเดือน โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในไตรมาส 2 ต่อไป


นโยบายสวัสดิการ

นโยบายในการกำหนดสวัสดิการแก่พนักงาน สำนักงานได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม ภาวะตลาดแรงงาน ในปี 2566 จึงได้ศึกษาการปรับปรุงสวัสดิการในบางรายการ เช่น วงเงินตรวจสุขภาพ รายการประเภทวัคซีนที่สำนักงานชดใช้ เพื่อเป็นการเพิ่มการดูแลสุขภาพให้แก่พนักงานในเชิงป้องกันที่จะลดการป่วยที่รุนแรง รวมถึงให้มีความทัดเทียมหรือดีกว่าองค์การที่ดำเนินกิจการคล้ายคลึงกัน ในไตรมาสที่ 1 เป็นการดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณ  โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปี 2566


นโยบายเรื่องสันทนาการ และกิจกรรมพนักงานสัมพันธ์

สำนักงาน ก.ล.ต. มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน มีสุขภาวะที่ดีและสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต มีความผูกพันระหว่างบุคลากรกับองค์ก​ร  มีความสัมพันธ์อันดีที่แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น จึงได้มีการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ปลูกฝังจิตสำนึกในการมีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงนโยบายในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการช่วยลดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย  โดยให้การสนับสนุนผู้พิการทางสายตามาให้บริการนวดแก่พนักงานเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)  โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งสำนักงานยังมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ปากเกร็ด นนทบุรี เพื่อใช้ในกิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ กิจกรรมสันทนาการและพนักงานสัมพันธ์ของสำนักงานประจำปี 2566


ความหลากหลายมิติของกิจกรรมสันทนาการและพนักงานสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น เช่น

1.   กิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น กิจกรรมทำบุญตักบาตรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นต้น (ในไตรมาสที่ 1 ยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่่มีการใช้งบประมาณ)

2.   กิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน และการมีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้จัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2566 จำนวน 1,035,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

2.1 กิจกรรม “ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักกัน" เทศกาลวาเลนไทน์ โดยจัดระหว่างวันที่ 14 -28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุย ทำความรู้จักกันมากขึ้น มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและความคาดหวังการทำงานร่วมกัน  มีความเข้าใจตรงกัน ช่วยเหลือกัน ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกในฝ่ายรักและสามัคคีกัน และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน มีการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมนี้จำนวน 21,554  บาท


2.2 กิจกรรม Inspiration Talk และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน อย่างน้อยไตรมาสละ 1-2  ครั้งเพื่อส่งเสริมการสร้างความมั่นคงแข็งแรงทางจิตใจและการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน (ภายใต้โครงการ Well Being) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริม Core value ของสำนักงาน (เปิดใจ ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง)  ตามแผน Innovative Organization และแนวทางการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน ดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีการจัดบรรยาย Inspiration Talk ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบออนไลน์ในหัวข้อ “การบริหารกำลังใจและการสร้าง  Growth mindset" โดย รศ. นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 มีพนักงานเข้าร่วมฟังการบรรยายประมาณ 129 คน   หรือการจัดบรรยาย Inspiration Talk ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบออนไลน์ในหัวข้อ “กล้ามเป๊ะ หุ่นปัง ฟังทางนี้" เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 มีพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 60 คน มีการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมนี้จำนวน 3,000 บาท     






2.3 กิจกรรม “ร่วมวงเล่า"เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เปิดเวทีให้สมาชิกในฝ่ายได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยกัน เพื่อร่วมกันต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่าย โดยมีผู้อำนวยการฝ่ายเป็น Facilitator สมาชิกในฝ่ายร่วมกันจัดระดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนของงาน รวมทั้งพูดคุยเปิดใจรับฟัง ช่วยกันแก้ไขปัญหา บอกความคาดหวังในการทำงานร่วมกัน ให้ Feedback ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันในทีม ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิมากขึ้นและมีความสุข โดยใช้เครื่องมือ Retrospective ( Continue : สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ส่งเสริมให้ทำต่อไป  Stop : หยุดทำสิ่งที่ไม่ดีหรือขัดขวางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน  และ Start : ชวนกันเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ดีๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิการทำงานและการใช้ชีวิตในที่ทำงานร่วมกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีมได้กล่าวชื่นชม ขอบคุณ และขอโทษซึ่งกันและกัน (โดยใช้เครื่องมือ 3 A : Acknowledge Appreciate Apologize) เริ่มดำเนินการประมาณไตรมาส 2/66 และดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งปี (ในไตรมาสที่ 1 ยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่่มีการใช้งบประมาณ) 

2.4 กิจกรรมแข่งขันออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน คาดว่าจะเริ่มจัดกิจกรรมประมาณไตรมาส 2 – 3 /2566 (ในไตรมาสที่ 1 ยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่่มีการใช้งบประมาณ)

2.5 กิจกรรมวันสงกรานต์ เพื่อส่งเสริมการสืบสานประเพณีไทย จัดกิจกรรมสรงน้ำพระในเดือนเมษายน 2566 โดยมีการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมนี้จำนวน 28,535 บาท ​

2.6 กิจกรรมวันครบรอบ 31 ปี ของการก่อตั้งสำนักงาน ส่งเสริมให้พนักงานต่างฝ่าย ต่างวัย ได้มีโอกาสรู้จักและทำกิจกรรมสัมพันธ์ร่วมกัน จัดในเดือนพฤษภาคม 2566 (ในไตรมาสที่ 1 ยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่่มีการใช้งบประมาณ)



3.   กิจกรรมส่งเสริมสันทนาการ สุขภาวะที่ดี และพนักงานสัมพันธ์ผ่านการดำเนินการของชมรมต่างๆ ของสำนักงาน กิจกรรมออกกำลังกายและสันทนาการที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นการ
ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มพนักงานต่างฝ่าย ต่างวัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยสำนักงานได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 จำนวนประมาณ 1,200,000 บาท  โดยในไตรมาส 1/2566  ได้มีการดำเนินการดังนี้

3.1 เมื่อเดือนมีนาคม 2566 บางชมรมได้เริ่มจัดกิจกรรมสันทนาการกันแล้ว เช่น ชมรมอาสาพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่ จ. กาญจนบุรี ชมรมถ่ายภาพจัดกิจกรรมทริปถ่ายภาพครั้งที่ 1/2566 ที่อาคารเก่าโรงงานกระดาษ สะพานมอญ วัดวังก์วิเวการาม และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ. กาญจนบุรี ชมรมเดิน-วิ่ง จัดกิจกรรม City walk & Run ที่ จ. กาญจนบุรี ชมรมจักรยานจัดกิจกรรมปั่นจักรยานที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ. กาญจนบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นประมาณ 74 คน โดยมีการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมนี้จำนวน 152,099 บาท    






3.2 กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย สำนักงานได้จัดสถานที่พร้อมอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย (เช่น ลู่วิ่งไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า เครื่อง machine ฝึกการยกน้ำหนัก เป็นต้น) รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายอื่นๆ เช่น โยคะ แอโรบิค ชกมวย ว่ายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมแข่งขันออกกำลังกาย Fit @ Home & Office Challenge Season 3 (ไตรมาส 1/ 2566 ยังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากยังต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ covid-19 จึงยังไม่มีการใช้งบประมาณในส่วนนี้)

 




4.   กิจกรรมส่งเสริมการมีจิตสาธารณะ เป็นจิตอาสาช่วยเหลือและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้น่าอยู่ เช่น เชิญชวนพนักงานเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย นอกจากนี้ สำนักงานยังร่วมกับชมรมอาสาพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ชมรมถ่ายภาพ ชมรมเดิน-วิ่ง ชมรมจักรยาน และชมรม E-Sport และ Boardgame ในการมอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนการสอน สิ่งของและเป็นจิตอาสาในการพัฒนาโรงเรียนและจัดกิจกรรมสันทนาการให้แก่น้องๆ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล็อคคี่ จ. กาญจนบุรี (ไม่มีการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมนี้ เนื่อ​งจากเป็นการขอรับบริจาคจากผู้บริหารและพนักงาน)​