Sign In
กฎเกณฑ์

​​​​​การจัดตั้งกองทุนรวม


2. รูปแบบการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม


            (1) การยื่นคำขออนุมัติแบบปกติ

บลจ. ยื่นคำขอพร้อมทั้งเอกสารประกอบคำขออนุมัติผ่านระบบพิจารณาคำขอจัดตั้งผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. พร้อมนำส่งรายละเอียดโครงการ ร่างหนังสือชี้ชวน ร่างข้อผูกพัน และร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ต่อ ก.ล.ต. (ม.118 ม.119 และ ม.120) โดย ก.ล.ต. จะแจ้งผลการอนุมัติภายใน 90 วันนับแต่วันที่เอกสารครบถ้วนตามที่คู่มือประชาชนกำหนด ​

            (2) การยื่นคำขออนุมัติแบบเร่งด่วน (fast track)

      บลจ. ที่ผ่านการประเมินคุณภาพระบบงานในเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมและการจัดทำหนังสือชี้ชวน ตามแนวทางที่กำหนดในประกาศแนวปฏิบัติว่าด้วยแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวม จาก ก.ล.ต. แล้ว สามารถยื่นคำขอพร้อมทั้งเอกสารประกอบคำขออนุมัติ รวมถึงมีการรับรองโดยผู้บริหารของ บลจ. ว่ากองทุนรวมที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้ง มีการดำเนินการตามนโยบายและระบบงานในการออกเสนอขายกองทุนรวม (product governance) ผ่านระบบพิจารณาคำขอจัดตั้งผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต.
โดย บลจ. สามารถยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบเร่งด่วน (fast track) ได้ เมื่อเป็นกองทุนรวมดังต่อไปนี้
1. กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนซึ่งจะส่งผลให้มี net exposure ในกองทุนปลายทางใดกองทุนปลายทางหนึ่ง โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (“feeder fund") ซึ่งกองทุนปลายทางต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามภาคผนวกแนบท้ายประกาศจัดตั้งกองทุนรวม และ feeder fund ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนและกำหนดตัวชี้วัดของ feeder fund สอดคล้องกับกองทุนปลายทางดังกล่าว
1.1 กรณี feeder fund ลงทุนในกองทุนปลายทางที่ออกภายใต้กฎหมายไทย กองทุนปลายทางดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจัดตั้งด้วยวิธีการแบบปกติ  
   1.2 กรณี feeder fund ลงทุนในกองทุนปลายทางที่ออกภายใต้กฎหมายต่างประเทศ จะต้องไม่เป็น feeder fund ที่กำหนดอายุของกองทุนรวมและมีการลงทุนในกองทุนปลายทางที่ไม่มีลักษณะเป็นกองทุน buy & hold
2. กองทุนรวมที่กำหนดรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญในทุกเรื่องดังนี้ เหมือนกับกองทุนรวมที่ บลจ. เคยได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมด้วยวิธีการแบบปกติ
2.1 นโยบายการลงทุน
2.2 ตัวชี้วัดของกองทุนรวม
2.3 ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน
2.4 ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนและจากกองทุนรวม
2.5 การแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน
2.6 ข้อความสงวนสิทธิ
2.7 การคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
2.8 รายละเอียดอื่นที่เป็นสาระสำคัญของกองทุนรวม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน  ทั้งนี้ ตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
3. กองทุนรวมอื่นที่นอกเหนือจาก 1 หรือ 2 ที่มีเงื่อนไขครบถ้วน ดังนี้
3.1 กองทุนรวมที่มีการลงทุนในต่างประเทศต้องมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวทั้งหมด
3.2 หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน (ถ้ามี) มีลักษณะตรงไปตรงมา ไม่ผันแปรไปตาม สูตรการคำนวณ
3.3 กรณีเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ต้องเป็นกองทุน buy & hold
3.4 ไม่เป็นกองทุนรวมผสม
3.5 ไม่เป็น feeder fund
3.6 ไม่มีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เว้นแต่
เป็นการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง
3.7 ไม่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน
3.8 ไม่มีลักษณะที่ต้องขอรับความเห็นชอบหรือขอผ่อนผันในการจัดการกองทุนรวมจาก ก.ล.ต. ก่อน

ทั้งนี้ กองทุนรวมข้างต้น 1-3 ต้องไม่เป็นกองทุนรวมดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมภายใต้โครงการ Cross - border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes
(2) กองทุนรวมภายใต้โครงการ Asia Region Funds Passport
(3) กองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ของประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ
(4) กองทุนรวมตลาดเงินที่มีการกำหนดราคาหน่วยลงทุนเพื่อการขายและรับซื้อคืนคงที่ตลอดเวลา
(5) กองทุนรวมอิสลาม
(6) กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน


อย่างไรก็ดี หาก ก.ล.ต. ดำเนินการตรวจสอบกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งแบบเร่งด่วน (fast track) โดยวิธีการสุ่มตรวจจากระดับความเสี่ยง (risk – based approach) โดยในกรณีที่พบข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญจากการตรวจสอบ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งแบบเร่งด่วน (fast track) ได้

รวมถึงหากพบว่า บลจ. ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งโครงการแบบเร่งด่วน (fast track) ผิดเงื่อนไข ก.ล.ต. อาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังนี้
(1) สั่งระงับการยื่นคำขอใหม่แบบปกติ หรือแบบเร่งด่วน (fast track) เป็นการชั่วคราว ไม่เกิน 1 ปี
(2) สั่งห้ามเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรกกรณีที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว
(3) เปิดเผยต่อสาธารณชน

นอกจากนี้ กรรมการและผู้บริหารก็อาจถูกดำเนินการตามประกาศว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามฯ ด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต. จะพิจารณาถึงพฤติกรรมของ บลจ. / ผลกระทบที่มีต่อผู้ลงทุนและแนวทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน

 

คำอธิบายนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น ส่วนการจะปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้องนั้น ประชาชนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ

โทรศัพท์ 0 2263 6562​