Sign In
หน้า 'LAWANDREGULATIONS/INTERMEDIARIESREGULATIONS-LAW-DERIVATIVES' ยังไม่มีข้อมูลใน Library 'Site_Menu_Detail' กรุณาเพิ่มข้อมูลใน Library ดังกล่าว
สาระสำคัญพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

​​​​

​​คำอธิบายสรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า)


 

1. ความมุ่งหมายของกฎหมาย


จากการที่ตลาดการเงินของประเทศไทยเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนสามารถใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง แต่ในอดีตสถานภาพของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายังไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้ที่ทำสัญญาโดยสุจริตยังมีความเสี่ยงว่าสัญญาจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ขึ้น เพื่อสร้างความชัดเจนทางกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รองรับการมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตัวกลางที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้ทางการเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายและผลกระทบของการทำธุรกรรมต่อตลาดทุนโดยรวม

​​​​​

2. นิยามที่เกี่ยวข้อง

2.1 การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หมายถึงการเข้าผูกพันตามสัญญา  ดังต่อไปนี้ (มาตรา 3)

(1) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้า เช่น หลักทรัพย์ ทองคำ หรือน้ำมันดิบ เป็นต้น ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใด เวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (physical delivery)

(2) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงิน หรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปร เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงินหรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (cash settlement)

(3) สัญญาที่กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้า หรือชำระราคาของสินค้า หรือชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคา หรือมูลค่าของสินค้า หรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กาหนดไว้ในสัญญาหรือเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาตาม (1) หรือ (2) (contract for difference)

ทั้งนี้ การซื้อขายสัญญาดังต่อไปนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 4)

(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กำหนดให้มีการชำระเงิน ที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรืออัตราดอกเบี้ย และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) สัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีข้อตกลงว่าจะขายหรือซื้อคืนซึ่งหลักทรัพย์ดังกล่าว

(3) สัญญาหรือการซื้อขายใด ๆ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด เช่น สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ ทองคำ หรือน้ำมันดิบ ที่กำหนดให้คู่สัญญาส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้ทำสัญญาดังกล่าวนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือไม่มีข้อกำหนดที่อนุญาตให้คู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่ส่งมอบสินค้าสามารถชำระเงินหรือส่วนต่างของราคาสินค้า (settle by cash) หรือทำการหักกลบลบหนี้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (set-off) แทนการส่งมอบสินค้าได้ และธรรมเนียมปฏิบัติในการทำสัญญาดังกล่าวไม่เปิดช่องให้คู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่ส่งมอบสินค้าหลุดพ้นจากหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวด้วยการทำสัญญาขึ้นใหม่ที่มีผลในทางตรงกันข้าม (close-out) กับสัญญาเดิม เป็นต้น

2.2 การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (“ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ") ได้แก่ การให้บริการ  ดังต่อไปนี้ (มาตรา 3)

(1) การเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ

(2) การเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยการเสนอเข้าหรือเข้าเป็นคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งเสนอซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(3) การเป็นที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งให้คำแนะนำหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้คำแนะนำ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมแก่บุคคลอื่นเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือความเหมาะสม ในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งให้คำแนะนำที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวเนื่องกับการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(4) การเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า : บุคคลซึ่งเข้าจัดการเงินทุนหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะรับจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยกระทำเป็นทางค้าปกติ

(5) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด : ปัจจุบันยังไม่มีประกาศกำหนด

 

3. สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย

3.1 การกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 9-15)

หน้าที่ในการกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน สรุปได้ดังนี้

​(1) คณะกรรมการ ก.ล.ต.

  • ​วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชี สัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

  • การดำเนินการอื่น เช่น การออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง การกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตและการขอจดทะเบียน การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับกฎหมาย (มาตรา 9) เป็นต้น รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลปฏิบัติได้ ในกรณีที่มีความจำเป็น (มาตรา 10)

  • มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่มอบหมายได้ โดยมีการกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับการประชุมคณะอนุกรรมการและประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 11 และมาตรา 12 และมาตรา 13)

   ​​​​​(2) สำนักงาน ก.ล.ต.

  • ​​ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และบทบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ. ซึ่งรวมถึงการรับค่าปรับที่เป็นโทษปรับทางปกครองและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ และการออกประกาศหรือคำสั่งตาม พ.ร.บ. (มาตรา 14)

  • มีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด (มาตรา 15)

 

​3.2 ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

​3.2.1 การกำกับควบคุมธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 16-20)

​ผู้ประก​​อบธุรกิจสัญญาฯ​ ​ ​

 

ระบบใบอนุญาต
(ให้ใบอนุญาต
โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต.)

ระบบจดทะเบียน 
(กับสำนักงาน)

การขอประกอบธุรกิจ

​คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์

  • ต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (ยกเว้นกรณีของที่ปรึกษาสัญญา
    ซื้อขายล่วงหน้าที่สามารถเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้)

  • ต้องเป็นนิติบุคคลประเภทธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ นิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

  • มีการประกอบธุรกิจกับผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น (ยกเว้นกรณีของผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นกองทุนรวม ต้องใช้ระบบใบอนุญาต)


  • คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมี​อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ

  • ปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองลูกค้า รักษาความมั่นคงของระบบการเงิน และควบคุมความเสี่ยงอันเกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ​

การกำกับ
การประกอบธุรกิจ

  • สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ยื่นรายงาน หรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ตามระยะเวลาตามที่กำหนด ​​

การเลิก
ประกอบธุรกิจ

  • ​​ให้ผู้ประกอ​บธุรกิจสัญญาฯ ยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ก.ล.ต. (กรณีระบบจดทะเบียน) หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. (กรณีระบบใบอนุญาต)



3.2.2 หลักเกณฑ์สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาต (มาตรา 21-30)

ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ได้รับใบอนุญาต ยังมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น เรื่อง

-  การประกอบธุรกิจอื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

-  ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด

-  กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เป็นนิติบุคคล : ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ทั้งกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งถือหุ้นหรือรับประโยชน์จากหุ้น เกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด) ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดและต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

-  การจัดทำบัญชีแสดงผลการดำเนินงาน การจัดทำงบการเงินและส่งงบการเงิน (ไม่รวมถึงที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงการเปิดเผยงบการเงินต่อประชาชน โดยงบการเงินต้องผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ

3.2.3 การปฏิบัติต่อทรัพย์สินของลูกค้าและการคุ้มครองทรัพย์สินลูกค้า (มาตรา 31-46)

บทบัญญัติในส่วนนี้ใช้บังคับกับผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ในกรณีที่สมควร คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดให้บทบัญญัตินี้บังคับใช้กับธุรกิจประเภทอื่นได้) โดย

(1) มาตรา 31-36 ของ พ.ร.บ. กำหนดบทบัญญัติในการปฏิบัติต่อทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ มีความปลอดภัยและครบถ้วน​อยู่ในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้า โดยผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้อง         

​- จัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าแยกออกจากทรัพย์สินของตน

- จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละรายแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของตนและเก็บรักษาบัญชี

- ห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้น และในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นเงิน การที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ นำไปแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด ในกรณีทรัพย์สินของลูกค้าเป็นหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ อาจโอนหลักทรัพย์ของลูกค้าไว้ในชื่อของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เพื่อประโยชน์ของลูกค้าได้ และหากมีกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้จากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ แจ้งไว้ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ อาจนำหลักทรัพย์ที่โอนไว้ในชื่อของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ดังกล่าว ออกขายได้

(2) มาตรา 37-40 ของ พ.ร.บ. กำหนดบทบัญญัติในกรณีที่ศาลรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกค้าหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกค้าในคดีล้มละลาย รวมถึงบทยกเว้นบางบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายด้วย

พ.ร.บ. มีการกำหนดสิ่งที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ดำเนินการได้ เช่น ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่คงค้างอยู่ เป็นต้น ซึ่งหากมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ให้มีการส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้าให้บุคคลที่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย แต่หากทรัพย์สินของลูกค้ามีไม่เพียงพอกับหนี้ที่ลูกค้ามีอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ  พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือในคดีล้มละลายของลูกค้า

(3) มาตรา 41-46 ของ พ.ร.บ. กำหนดบทบัญญัติคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ตกเป็นลูกค้าตามคำพิพากษา หรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าจะได้รับการคุ้มครอง โดยไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การยึด หรืออายัดในคดีแพ่ง หรือเป็นทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้มีอำนาจแยกและจัดการทรัพย์สินของลูกค้า และในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการ ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าก็ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ พ.ร.บ. มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการกับทรัพย์สินของลูกค้า สิทธิของลูกค้าที่ได้รับจัดสรรทรัพย์สินคืนก่อน สิทธิของลูกค้าในการขอรับชำระหนี้หากลูกค้าได้รับทรัพย์สินคืนไม่ครบจำนวนด้วย

 

3.2.4 การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ (มาตรา 47 และ 48)

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้าและเพื่อให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม ลูกค้าอาจขอให้มีการระงับข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีขึ้นได้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ มาใช้บังคับกับการระงับข้อพิพาทนี้โดยอนุโลม

3.2.5 มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าและระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 49-53) 

มาตรการที่สำคัญคือ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องดำรงฐานะทางการเงินได้ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงิน หรือมีการดำเนินการอันอาจก่อความเสียหาย สำนักงานมีอำนาจสั่งการให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ  (1) งดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การซื้อขายเพื่อล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (2) โอนฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทรัพย์สินของลูกค้าไปให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ รายอื่นดำเนินการแทน (3) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า ในกรณีที่ไม่สามารถโอนให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ รายอื่นได้ (4) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ มีไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือ (5) กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรได้

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ และมีอำนาจดำเนินการ หรือมอบหมายให้สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นผู้ดำเนินการตาม (2) (3) หรือ (4) แทนได้ โดยเสมือนผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง และมีผลผูกพันตามกฎหมาย

3.3 สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ (มาตรา 90 และ 91) 

สมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด เช่น หลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมการ การมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับข้อร้องเรียนจากลูกค้าของสมาชิกหรือระงับข้อพิพาท มีมาตรการกำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามเกณฑ์ของสมาคมและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในกรณีที่สมาคมมีคำสั่งลงโทษทางวินัยสมาชิก ให้สมาคมแจ้งและส่งเอกสารเรื่องการลงโทษให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้ง ในกรณีที่สมาชิกไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด และเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ในเรื่องเดียวกัน และสมาคมได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยสมาชิกแล้ว คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน ก.ล.ต. จะไม่ลงโทษทางปกครองสมาชิกซ้ำอีกก็ได้หากเห็นว่าได้รับโทษอย่างเหมาะสมแล้ว

นอกจากนี้ ให้สมาคมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาชิกของสมาคม หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย

3.4 การกำกับและควบคุม (มาตรา 101 และ 102)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการกำกับและควบคุม โดยให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานชี้แจง แสดงความเห็นหรือทำรายงานในเรื่องที่กำกับดูแลอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ได้

3.5 บทกำหนดโทษและอายุความ (มาตรา 111 และ 154)

โทษตาม พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามี 2 ประเภท ได้แก่ โทษทางปกครอง และโทษอาญา 

(1) โทษทางปกครอง


ฐานควา​มผิด

โทษทางปกครอง (มาตรา 111)

ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ รวมทั้งนิติบุคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คำสั่ง หรือเงื่อนไขที่กำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องรับโทษทางปกครอง (มาตรา 114 มาตรา 119)

  • เงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน หรือคุ้มครองผู้ลงทุน (มาตรา 10)

  • หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้า รักษาความมั่นคงของระบบการเงินหรือควบคุมเสี่ยงที่เกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 18)

  • การยื่นรายงานหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด (มาตรา 19)

  • การยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจ (มาตรา 20 วรรคหนึ่ง)

  • การประกอบธุรกิจอื่นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. (มาตรา 22)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม (มาตรา 23)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่เป็นนิติบุคคล แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ ที่มีลักษณะต้องห้าม (มาตรา 24)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ได้จ่ายเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นใด สำหรับจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินร้อยละ 10 แก่ให้ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินร้อยละ 10 แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. (มาตรา 25) หรือยอมให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับจำนวนหุ้นส่วนที่เกินร้อยละ 10 ดังกล่าว (มาตรา 26)

  • หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ สัญญาฯต้องจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้าแยกจากทรัพย์สินของตน และหลักเกณฑ์การจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทดรองจ่าย (มาตรา 33)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่นำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการซื้อขาย สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า (มาตรา 34)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ และมีทรัพย์สินของลูกค้าเหลืออยู่และไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้บุคคลผู้อำนาจจัดการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (มาตรา 38)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ที่ถูกทางการหรือหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายอื่นสั่งระงับการดำเนินกิจการและไม่ได้แจ้งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ (มาตรา 46 วรรคหนึ่ง)

  • ผู้ที่ไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ขอจดทะเบียน ขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ต้องรับโทษทางปกครอง (มาตรา 118)​

(1) ภาคทัณฑ์

(2) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน

(3) ปรับทางปกครอง (ค่าปรับต้องไม่เกิน 2,000,000 บาท ในแต่ละกรรม) (มาตรา 113)

(4) จำกัดการประกอบการ

(5) พักการประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบภายในระยะเวลาที่กำหนด

(6) เพิกถอนใบอนุญาต การจดทะเบียนหรือการให้ความเห็นชอบ

 

 

             (2) โทษอาญา (โทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี)

  • ​ ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาต / ไม่ได้จดทะเบียน (มาตรา 16 ประกอบมาตรา 125)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจและฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจ (มาตรา 20 วรรคสอง ประกอบมาตรา 126)

  • กรณีที่เป็นนิติบุคคล และการกระทำผิดเกิดจากการสั่งการ / การกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าว มีหน้าที่ต้องสั่งการ / กระทำการและละเว้นไม่สั่งการ / ไม่กระทำการ จนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด (มาตรา 126 ประกอบมาตรา 135)

  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ไม่ได้จัดทำบัญชี แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินตามจริง หรือไม่ได้จัดทำและส่งงบการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งไม่ได้เปิดเผยงบการเงิน (มาตรา 27 หรือมาตรา 28 ประกอบมาตรา 129)  

  • ผู้ใดฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษ (มาตรา 136)

    • ​​ข้อห้ามการสร้างราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 92)

    • ข้อห้ามการกักตุน ทุ่มตลาด หรือควบคุมสินค้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 94)

    • ข้อห้ามการบอกกล่าว แพร่ข้อความ หรือให้ คำรับรองเท็จหรือก่อให้เกิดความสำคัญผิด​ในสาระสำคัญ (มาตรา 95) 

    • ข้อห้ามทำการ คาดการณ์โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือนำข้อมูลที่รู้ว่า เป็นเท็จมาใช้คาดการณ์ (มาตรา 96)

    • ข้อห้ามการแพร่ข้อความเพื่อสร้างราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (มาตรา 97)

  •  ผู้ใดฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษ (มาตรา 137)

    • ​ข้อห้ามบุคคลภายใน ที่รู้ข้อมูลภายในใช้ ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้อื่น (มาตรา 99)

    • ข้อห้ามบุคคลที่รู้ข้อมูลภายในจากการเปิดเผยตามมาตรา 99 ใช้ข้อมูลภายใน​เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น (มาตรา 100)

    • กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ฉ้อโกง ยักยอก อาศัยตำแหน่งโดยทุจริต หรือทำผิดหน้าที่ (มาตรา 145)

    • ที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ที่ฉ้อโกง อาศัยตำแหน่งโดยทุจริตหรือทำผิดหน้าที่ (มาตรา 146)

    • กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่ทำให้ทรัพย์สินของนิติบุคคลเสียหาย (มาตรา 147)

    • กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่กระทำหรือยินยอมให้กระทำผิดเกี่ยวกับบัญชีหรือเอกสารเพื่อลวงให้ลูกค้าขาดประโยชน์อันควรได้ (มาตรา 148)

    • ผู้ที่เปิดเผยกิจการที่ล่วงรู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 153)

  • ​ อายุความสำหรับความผิดที่มีโทษทางปกครองหรือที่มีโทษปรับเพียงอย่างเดียวคือ 1 ปี นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่ามีการกระทำผิด หรือ 5 ปี นับแต่วันที่มีการกระทำผิด (มาตรา 154)

 

​หมายเหตุ  คำอธิบายนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ

 

ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2563


​- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf


ฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ

โทรศัพท์ 1207 กด 7​​