Sign In
หน้า 'LAWANDREGULATIONS/INTERMEDIARIESREGULATIONS-LAW-SEC' ยังไม่มีข้อมูลใน Library 'Site_Menu_Detail' กรุณาเพิ่มข้อมูลใน Library ดังกล่าว
สาระสำคัญพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์)

​1. ความมุ่งหมายของกฎหมาย

ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เกี่ยวข้อง (stakeholder) ที่สำคัญในตลาดทุนไทย ในฐานะการทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้บริการแก่ผู้ลงทุนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (“พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ") จึงมีความมุ่งหมายในการสร้างกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีความน่าเชื่อถือ ดูแลผลประโยชน์ของผู้ลงทุนและตลาดทุนโดยรวม โดยมีกลไกในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ตั้งแต่กระบวนการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อให้ประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการกำกับและควบคุมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีความพร้อมด้านระบบการบริหารจัดการ มีระบบการปฏิบัติงานและบุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและให้บริการผู้ลงทุนตามมาตรฐานที่กำหนด

 

2. สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย (ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์)


     2.1 การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ (มาตรา 90-93)

  • ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือ เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น โดยผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์การขออนุญาตตามที่กำหนด
    ในกฎกระทรวง (มาตรา 90) เช่น มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีกรรมการและผู้บริหารที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มีความพร้อมด้านระบบงานที่สามารถจะประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบบริหารจัดการความเสี่ยง ระบบป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระบบตรวจสอบและควบคุมภายใน ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีบุคลากรทั้งด้านคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอในการให้บริการได้อย่าง
    มีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจมีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อกำหนดเงื่อนไข
    ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติในการประกอบธุรกิจได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ หรือเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน (มาตรา 91)

  • เนื่องจากรูปแบบการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในปัจจุบันมีความหลากหลาย ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจและได้สัดส่วนกับความจำเป็นในการคุ้มครองผู้ลงทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจในลักษณะที่กำหนด ได้รับยกเว้น
    การปฏิบัติตามหรือปฏิบัติแตกต่างไปจากบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการกำกับและควบคุมตาม ข้อ 2.2
    ในบางส่วนหรือทั้งหมดได้ (มาตรา 91/1) เช่น ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการเฉพาะผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
    ที่ไม่มีความซับซ้อนและมีลักษณะครบถ้วนตามที่กำหนด ได้รับยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ชื่อบริษัทหลักทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 94 เป็นต้น

  • นอกจากนี้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้การมีสำนักงานสาขาของบริษัทหลักทรัพย์ (“บล.")
    ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด สำหรับสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่น ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น (มาตรา 92)

  • สำหรับกรณีมีกิจการต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายต่างประเทศประสงค์จะจัดตั้งสำนักงานผู้แทนเพื่อติดต่อกับบุคคลทั่วไปในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อน (มาตรา 93)
     

    2.2 การกำกับและควบคุม (มาตรา 94 - 116)

  • เพื่อให้ บล. สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและระบบโดยรวม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีบทบัญญัติในการกำกับดูแลและควบคุมการประกอบธุรกิจ เช่น การใช้ชื่อของ บล. ซึ่งต้องมีคำนำหน้าว่า “บริษัทหลักทรัพย์" (มาตรา 94 และมาตรา 95) การดำรงทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วและการดำรงเงินกองทุน (มาตรา 96 และมาตรา 97) ข้อห้ามกระทำการต่าง ๆ รวมถึงเรื่องที่อนุญาตให้ทำได้โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (มาตรา 98 มาตรา 100 และมาตรา 102) การกำกับดูแลผู้บริหารของ บล. โดยมีการกำหนดลักษณะต้องห้าม การให้ความเห็นชอบและการเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ (มาตรา 103 และมาตรา 104) การจัดทำ การประกาศ การจัดส่งงบการเงิน และผู้สอบบัญชีของ บล. (มาตรา 105 มาตรา 106 และมาตรา 107) การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้อื่นและการรายงานข้อมูลต่อสำนักงาน (มาตรา 108 และมาตรา 109)
    การเปิดทำการและหยุดทำการ (มาตรา 110) รวมถึงมีบทคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าของ บล. ในกรณีที่ บล.ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการ (มาตรา 111/1)

  • สำหรับสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จึงมีบทบัญญัติไม่นำหลักเกณฑ์ในบางเรื่อง บางมาตรามาใช้บังคับ เช่น การใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทหลักทรัพย์" การย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขา
    การจัดทำ การประกาศ การจัดส่งงบการเงิน และผู้สอบบัญชี เป็นต้น (มาตรา 111)

  • นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนสามารถออกหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (มาตรา 112-116) เพื่อเป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
    ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในเรื่องที่สำคัญ เช่น การกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจในฐานะ
    ผู้มีวิชาชีพ การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงานในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2.1 มาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการติดต่อและให้บริการลูกค้า เป็นต้น

 

​หมายเหตุ  คำอธิบายนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ


- - - - - - - - - - - - -

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf​