Content1
กองทุนรวม
กองทุนรวม เป็นเครื่องมือการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลาย ๆ คนนำเงินมารวมกันและมอบหมายให้มืออาชีพซึ่งได้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนและได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้บริหารและจัดการเงินลงทุน โดยกองทุนรวมมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจาก บลจ.
เนื่องจากเป็นการจัดการเงินของประชาชน การจัดตั้ง และ จัดการกองทุนรวม จึงอยู่ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เพื่อให้ผู้ลงทุนเจ้าของเงินมั่นใจได้ว่า เงินลงทุนได้รับการบริหารจัดการโดยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ นำไปลงทุนได้อย่างเหมาะสม ตามที่ผู้ลงทุนตั้งใจไว้ และมีความปลอดภัย โดยการจัดตั้งกองทุนรวมจะต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. โดยสิ่งที่ ก.ล.ต. พิจารณา คือ นโยบายการลงทุนต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและต้องชัดเจน ง่ายต่อการเข้าใจของผู้ลงทุน การเปิดเผยเรื่องระดับความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวมและผลตอบแทนต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม และในโครงการจะต้องเปิดเผยข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการขายคืนหน่วยลงทุน สิทธิในการรับเงินปันผล (ถ้ามี) สิทธิในการโอนหน่วยลงทุน สิทธิในการลงมติในการแก้ไขโครงการ เป็นต้น
หลังจากที่ ก.ล.ต. อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมแล้ว ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุน บลจ. ต้องแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดการลงทุนของ บลจ. ให้เป็นไปตามที่กำหนดในโครงการ และเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนรวม และเมื่อ บลจ. เสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว บลจ. ต้องนำเงินที่ขายหน่วยลงทุนได้มาจดทะเบียนเป็นกองทุนรวม ซึ่งจะทำให้กองทุนรวมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากแยกจาก บลจ. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากรณี บลจ. ล้มละลายแล้วเจ้าหนี้จะเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ บลจ. บริหาร ทั้งนี้ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปต้องมีผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 35 ราย
ในการจัดการกองทุนรวม บลจ. ต้องจัดการลงทุนให้เป็นไปตามที่ระบุไว้โครงการจัดการลงทุนและนโยบายที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งต้องมีลักษณะเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยมีสัดส่วนการลงทุนในประเภททรัพย์สิน หมวดอุตสาหกรรม และบริษัท ไม่เกินสัดส่วนที่หลักเกณฑ์กำหนด โดย บลจ. ต้องมอบหมายให้ ผู้จัดการกองทุน ทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนภายใต้วัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนตามที่กำหนดไว้ในโครงการ โดยต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งมีคุณสมบัติ คือ มีความรู้และมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ด้านกฎหมาย จรรยาบรรณ และมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ต้องจัดให้มี ผู้ดูแลผลประโยชน์ เพื่อทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น ดูแลให้ บลจ. จัดการลงทุนให้เป็นไปตามโครงการจัดการลงทุน สอบทานความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม เก็บรักษาและตรวจนับทรัพย์สิน รวมทั้งดำเนินคดีฟ้องร้องแทนผู้ถือหน่วยลงทุนหาก บลจ. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของกองทุนรวมให้มีการเปิดเผยข้อมูลครบถ้วนและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี
ในระหว่างที่ลงทุน บลจ. ต้องคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนในราคาตลาดและประกาศให้ทราบทั่วกัน และต้องจัดทำรายงานรอบระยะเวลา 6 เดือน และรายงานรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี ส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจซื้อขายหรือลงทุนในหน่วยลงทุน
กองทุนรวมที่จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ
1. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund: กองอสังหาฯ) คือ กองทุนรวมที่ บลจ. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเนื่องจากกองอสังหาฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีทางเลือกในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ดังนั้น การกำกับดูแลจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ค่าเช่าที่มีลักษณะประจำ และไม่ให้กองอสังหาฯ ไปประกอบธุรกิจในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่เป็นการหาประโยชน์โดยการเก็บค่าเช่า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเสนอขายหน่วยลงทุนในวงกว้างเพื่อให้มีการกระจายหน่วยลงทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ก.ล.ต. ได้สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาใช้ในการระดมทุนเพื่อไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” หรือ “Infrastructure Fund” (กอง Infra) อันจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของรัฐ และเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุนให้ทั้งรัฐและเอกชน โดยกอง infra จะได้รับผลตอบแทนจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ไปลงทุนและจ่ายส่วนแบ่งกำไรแก่ผู้ลงทุน
กอง infra มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นทางเลือกของรัฐหรือเอกชนในการระดมเงินเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีทางเลือกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น การกำกับดูแลจึงให้ความสำคัญกับลักษณะทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานที่กอง infra จะลงทุนได้ (ทรัพย์สิน infra) การเปิดให้กอง infra สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เริ่มมีรายได้เชิงพาณิชย์ ความยืดหยุ่นของกอง infra ในการจัดหาเงินจากการออกหน่วยลงทุนและจากการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในทรัพย์สิน infra และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม โดยกอง infra จะต้องมีลักษณะตามที่ประกาศกำหนด
3. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund) คือกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของผู้ลงทุนต่างด้าวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว
เนื่องจากมิได้เป็นกองที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปและมีวัตถุประสงค์เฉพาะ การกำกับดูแลจึงไม่เข้มงวด
Content2
กองทุนส่วนบุคคล / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
1. กองทุนส่วนบุคคล คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นจากเงินลงทุนของบุคคลไม่เกิน 35 รายโดยมอบหมายให้บริษัทจัดการที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. บริหารจัดการเงินดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามเงื่อนไขที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งเป็นการจัดการเงินลงทุนของบุคคลอื่น ก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน โดยในการบริหารเงินลงทุนของลูกค้า ต้องจัดให้มี “ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล” ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. จะเป็นผู้ดำเนินการ และบริษัทจัดการ ต้องแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของ บริษัทจัดการ เนื่องจากกองทุนส่วนบุคคลไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนกับกองทุนรวม ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากบริษัทจัดการและเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปแสวงหาประโยชน์อื่น พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จึงได้กำหนดให้บริษัทจัดการต้องนำทรัพย์สินของลูกค้าไปฝากไว้ที่ “ผู้รับฝากทรัพย์สิน” ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และผู้รับฝากทรัพย์สินจะต้องแยกทรัพย์สินนั้นออกจากทรัพย์สินของตน
2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างเกษียณหรือออกจากงาน ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นสวัสดิการที่นายจ้างให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่นายจ้าง นอกจากนี้ ยังถือเป็นการออมเงินที่สำคัญเพื่อประโยชน์ยามเกษียณอายุของลูกจ้าง
ในอดีต กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เนื่องจากการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นธุรกิจการจัดการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน กระทรวงการคลังจึงได้โอนงานด้านกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาให้ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543
การกำหนดเกณฑ์ในการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันสอดคล้องกับเกณฑ์ของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ทั้งในเรื่องของการแยกทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเก็บไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สิน การมีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การกำหนดอัตราส่วนการลงทุน การคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน การเปิดเผยข้อมูล การให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของตน (investor's choice) และการแบ่งสิทธิของสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกเป็นหน่วยย่อย (unitization) โดยมี “ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล” ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. สังกัดบริษัทจัดการ เป็นผู้จัดการ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนในการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นใหม่ รับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อบังคับของแต่ละกองทุน
ศึกษารายละเอียดที่ www.thaipvd.com
Content3
ตราสารอื่น
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrants: DW)
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นตราสารที่ให้สิทธิผู้ถือตราสารซื้อหรือขายทรัพย์สินอ้างอิง หรือให้สิทธิผู้ถือตราสารได้รับเงินจากราคาหรือระดับดัชนีของทรัพย์สินอ้างอิง ปัจจุบัน ก.ล.ต. อนุญาตให้ออกและเสนอขาย DW ที่อ้างอิงหลักทรัพย์เท่านั้น โดยหลักทรัพย์อ้างอิงดังกล่าวต้องเป็นหลักทรัพย์ของบริษัทอื่นที่ไม่ใช่ของบริษัทผู้ออก DW โดย ก.ล.ต. มีหลักในการกำกับดูแลแยกตามประเภทของ DW ดังนี้
1. ประเภทที่ไม่มีทรัพย์สิน/หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นประกัน ความเสี่ยงของการออก DW ประเภทนี้อยู่ที่ผู้ออกว่าจะสามารถ ส่งมอบหรือจ่ายส่วนต่างตามภาระผูกพันได้หรือไม่ ก.ล.ต. จึงพิจารณาความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ฐานะความมั่นคง และระบบงานของผู้ออก เป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้ออก DW ประเภทนี้จึงควรเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ ที่สามารถบริหารความเสี่ยง มีฐานะมั่นคง และมีระบบการควบคุมและการปฏิบัติงานที่ดี
2. ประเภทที่มีทรัพย์สิน/หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นประกันเต็มจำนวน ความเสี่ยงอยู่ที่ความปลอดภัยของทรัพย์สินที่เป็นประกันก.ล.ต. ไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติในด้านการบริหารความเสี่ยงของผู้ออก แต่จะพิจารณาระบบการจัดเก็บหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งต้องโอนไปไว้ที่ผู้รักษาทรัพย์สิน ซึ่งกำหนดให้เป็นทรัสตีที่ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550
ในการกำกับดูแล ก.ล.ต. เน้นที่การเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงข้อมูลฐานะการเงินและระบบการบริหารความเสี่ยงของผู้ออก DW และในการออก DW แต่ละครั้ง กำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่หลักทรัพย์ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงด้วย สำหรับการกำหนดประเภททรัพย์สินหรือหลักทรัพย์อ้างอิง ก.ล.ต. คำนึงถึงสภาพคล่องของหลักทรัพย์ รวมถึงจะต้องสอดคล้องกับการกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย
ปรับปรุงล่าสุด
29 สิงหาคม 2557
|
|
|
|