Sign In
FAQ

​​

บทบาทและหน้าที่คณะกรรมการ





 
Q:  “ผู้บริหาร” ในความหมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หมายถึงบุคคลใดบ้างในองค์กร

A: “ผู้บริหาร” ตามหมวดนี้ หมายความว่า ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการบริหารงานของบริษัท ไม่ว่าโดยพฤติการณ์หรือโดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด (มาตรา 89/1) ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้ออกประกาศที่ ทจ. 23/2551 กำหนดว่า “ผู้บริหาร” ตามมาตรา 89/1 หมายถึง ผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร 4 รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ 4 ทุกราย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า 
 

Q:  “ผู้บริหารบริษัทย่อย” หมายรวมถึงบุคคลใดบ้าง  
 
A: “ผู้บริหารบริษัทย่อย” มีความหมายเช่นเดียวกันกับผู้บริหารของบริษัท  
 

Q: คำว่า “กรรมการ” รวมถึง “กรรมการของเจ้าหนี้” สำหรับบริษัทที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการด้วยหรือไม่
 
A: ในกรณีที่บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้นำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารมาใช้กับบุคคลต่อไปนี้ด้วย (มาตรา 89/22) 
(1) ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราวตามกฎหมาย ว่าด้วยล้มละลาย และในกรณีที่ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว เป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงกรรมการและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของนิติบุคคลนั้นด้วย
 
(2) ผู้ชำระบัญชี ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าหนี้เป็นผู้บริหารแผน หรือเป็นกรรมการ/ผู้บริหารของผู้บริหารแผน จึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับกรรมการ/ผู้บริหารของบริษัท

Q: กรรมการมีหน้าที่อะไรเป็นพิเศษบ้าง ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 
 
A: กฎหมายฉบับนี้มิได้กำหนดหน้าที่ใดเป็นพิเศษให้แก่กรรมการบริษัท ประเด็นหลักที่เพิ่มเติมตามกฎหมายฉบับนี้ คือ การเพิ่มบทคุ้มครองกรรมการและผู้บริหารที่ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริตแล้ว นอกจากนี้ ได้เพิ่มเติมความรับผิดที่แรงขึ้น หากกรรมการหรือผู้บริหารมีการกระทำโดยทุจริต 
 
Q: ถ้าคณะกรรมการบริษัทมีการว่าจ้างที่ปรึกษา (เช่น ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น) และตัดสินใจตามคำแนะนำของที่ปรึกษาเหล่านั้น จะถือเป็นการทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังหรือไม่ ถ้าเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อว่าเพียงพอ และที่ปรึกษานั้นต้องรับผิดต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่
 
A: การตัดสินใจของกรรมการตามคำแนะนำของที่ปรึกษาจากภายนอกสามารถใช้เป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าการตัดสินใจนั้นได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลที่เชื่อโดยสุจริตว่าเพียงพอ อย่างไรก็ดี การพิสูจน์ในเรื่องความระมัดระวังต้องพิสูจน์ อีก 2 เงื่อนไข คือ
 
(1) การตัดสินใจนั้นกระทำด้วยความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ และ
 
(2) การตัดสินใจนั้นได้กระทำโดยตนไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการตัดสินใจนั้น ทั้งนี้ ในการจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามหลักความระมัดระวัง คณะกรรมการบริษัทควรต้องพิจารณา
 
 (ก) ความรู้ความสามารถของที่ปรึกษา และ (ข) ความสมเหตุสมผลของสมมุติฐานที่ที่ปรึกษาใช้ด้วย (มาตรา 89/8)  ที่ปรึกษาที่คณะกรรมการบริษัทว่าจ้างถือว่ามีความรับผิดต่อคณะกรรมการบริษัทโดยตรง ดังนั้น หากคณะกรรมการบริษัทพบว่าที่ปรึกษาให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ คณะกรรมการบริษัทย่อมสามารถฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย นอกจากนี้ โดยทั่วไปที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือที่ปรึกษากฎหมาย ต่างก็มีมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ ดังนั้น หากการให้ความเห็นของที่ปรึกษาดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ ที่ปรึกษานั้นย่อมมีความผิดตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลวิชาชีพนั้นๆ ด้วย   ​
 
 
Q: “การตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท” มีความหมายอย่างไร 
 
 A: หมายถึง ในการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัท ซึ่งหมายความถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวม
 
Q: ในกรณีที่กรรมการบริหารกระทำการทุจริต โดยผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในก็ไม่สามารถตรวจพบ จนกระทั่งความเสียหายถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาโดยบุคคลภายนอก กรรมการอิสระจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่
 
A: กรรมการอิสระก็คือกรรมการบริษัท ดังนั้น จึงต้องทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งหากกรรมการอิสระสามารถพิสูจน์ได้ว่าภายใต้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตน ตนได้ทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ก็จะช่วยคุ้มครองกรรมการอิสระรายนั้นได้
 
Q:  เพื่อเป็น safe harbor ให้กับกรรมการและผู้บริหาร บริษัทจำเป็นต้องจัดให้มีการจดบันทึกรายงานการประชุมไว้โดยละเอียดเพียงใด ควรจดบันทึกความเห็นของกรรมการและผู้บริหารทุกรายหรือไม่ 
 
A: รายงานการประชุมสามารถใช้เป็นเอกสารอ้างอิงการแสดงความเห็นของกรรมการในที่ประชุมได้ ดังนั้น กรรมการควรสอบทานให้แน่ใจว่ารายงานการประชุมได้บันทึกประเด็นสำคัญๆ ไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะในกรณีที่กรรมการมีความเห็นขัดแย้งกับมติโดยรวม ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ได้ว่าตนได้แสดงความเห็นแย้งในที่ประชุมแล้ว ​
 
 
Q: กรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่โดย "เชื่อโดยสุจริต" ไม่ว่าจะอย่างสมเหตุสมผลหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม แต่หากไม่ได้มีการแสวงหาผลประโยชน์มิชอบแล้ว จะถือว่ามีความผิดหรือไม่
 
A: มาตรา 89/8 กำหนดลักษณะการตัดสินใจของกรรมการหรือผู้บริหารที่จะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและระมัดระวังต้องเป็นดังนี้ 
 
 (1) การตัดสินใจได้กระทำไปด้วยความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ
 (2) การตัดสินใจได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลที่เชื่อโดยสุจริตว่าเพียงพอ และ
 (3) การตัดสินใจได้กระทำไปโดยตนไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่ตัดสินใจนั้น ดังนั้น การที่กรรมการและผู้บริหารจะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติข้างต้น จึงต้องมีลักษณะการตัดสินใจที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ข้างต้นทุกข้อ
 
 
 
Q: วัตถุประสงค์ของการกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานการมีส่วนได้เสียต่อบริษัท ตามมาตรา 89/14 คืออะไร
 
A: ข้อกำหนดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทมีข้อมูลในการใช้ประโยชน์ภายในบริษัท กล่าวคือ รายงานดังกล่าวทำให้เลขานุการบริษัทมีเครื่องมือที่ช่วยติดตามให้กรรมการหรือผู้บริหารทำหน้าที่ได้ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต (fiduciary duties) ซึ่งมีหลักสำคัญประการหนึ่งคือ จะต้องตัดสินใจโดยไม่มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่ตัดสินใจ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การรายงานในเรื่องนี้จะเป็นไปตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด
 

Q: รายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารจะต้องรายงานตามแบบฟอร์มใด และจะต้องการรายงานทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกครั้งที่มีการพิจารณารายการที่มีการเกี่ยวโยงกัน
 
A: ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทรายงานการมีส่วนได้เสียตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด
 
 
Q: หากคณะกรรมการ บจ. เคยมีมติอนุมัติหรือเคยอนุมัติหลักการให้ฝ่ายจัดการสามารถทำรายการเกี่ยวโยงที่เป็นรายการธุรกิจปกติหรือข้อตกลงทางการค้าที่มีเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไปซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการก่อนที่จะทำรายการ ควรให้คณะกรรมการ review มติหรือหลักการในเรื่องดังกล่าวทุกกี่ปี

A: มติหรือหลักการดังกล่าวสามารถใช้ได้ตลอดไป อย่างไรก็ดี ฝ่ายจัดการของ บจ. ควรเสนอให้คณะกรรมการ review มติหรือหลักการดังกล่าว เมื่อ บจ. เห็นว่า มติหรือหลักการดังกล่าวที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการในครั้งก่อนไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของบริษัทในปัจจุบัน เช่น ธุรกรรมมีขนาดใหญ่ขึ้นตามการขยายตัวของบริษัท มีธุรกรรมประเภทใหม่เกิดขึ้นตามการขยายประเภทธุรกิจของบริษัท เป็นต้น
 
นอกจากนี้ หาก บจ. ต้องการคำแนะนำในเรื่องความเหมาะสมในเรื่องดังกล่าวเป็นรายปีจากคณะกรรมการบริษัท บจ. อาจให้คณะกรรมการ review หลักการหรือมติเดิมที่เคยได้รับจากคณะกรรมการทุกปีก็ได้ 
 
Q: ในการทำรายการเกี่ยวโยง บจ. ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการ บจ. ในลักษณะใด
 
A: คณะกรรมการต้องให้ความเห็นให้ชัดเจนว่า การทำรายการเกี่ยวโยงดังกล่าวของ บจ. สมเหตุสมผล และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทหรือไม่ อย่างไร หากคณะกรรมการตรวจสอบ (AC) หรือกรรมการท่านใดมีความเห็นต่าง ก็ต้องระบุความเห็นที่ต่างนั้นด้วย และหากขนาดรายการเข้าเกณฑ์ที่ต้องขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ บจ. และ AC จะระบุ เพียงแค่ “เห็นควรนำเสนอให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติการทำรายการ” ไม่ได้

Q: บจ. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยรวมถึงการค้ำประกันให้แก่บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน มีวิธีการคำนวณขนาดรายการอย่างไร

A: การที่ บจ. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยมีการค้ำประกันให้แก่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันด้วย หากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ มูลค่าเงินให้กู้ยืมและ/หรือค้ำประกันทั้งหมดก็อาจจะเป็นความเสียหายที่เกิดกับ บจ.ได้ ดังนั้น การคำนวณขนาดรายการจึงควรต้องครอบคลุมถึงมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ บจ. ทั้งหมด โดยรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และ/หรือมูลค่าภาระค้ำประกันทั้งจำนวน นอกจากนี้ หากบุคคลที่เกี่ยวโยงกันเป็นบริษัทที่มีบุคคลที่เกี่ยวโยงกันเข้าไปถือหุ้นบางส่วนก็ให้ใช้แนวทางการคำนวณขนาดรายการดังกล่าวโดยไม่ต้องแยกตามสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน
 
Q: บจ. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยรวมถึงการค้ำประกันให้แก่บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน มีวิธีการคำนวณขนาดรายการอย่างไร
 
A: การที่ บจ. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยมีการค้ำประกันให้แก่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันด้วย หากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ มูลค่าเงินให้กู้ยืมและ/หรือค้ำประกันทั้งหมดก็อาจจะเป็นความเสียหายที่เกิดกับ บจ.ได้ ดังนั้น การคำนวณขนาดรายการจึงควรต้องครอบคลุมถึงมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ บจ. ทั้งหมด โดยรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และ/หรือมูลค่าภาระค้ำประกันทั้งจำนวน

Q: การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละรายถืออยู่ (Right Offering) และผู้ถือหุ้นใหญ่ใช้สิทธิในการจองซื้อเกินสิทธิจะเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือไม่
 
A: รายการดังกล่าวจะไม่เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันก็ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นทุกรายต้องได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นเกินกว่าสิทธิของตน และการจัดสรรหุ้นที่เหลือให้แก่ผู้ถือหุ้นที่จองเกินสิทธิแต่ละราย ต้องเป็นไปตามสัดส่วนหุ้นเดิมที่ผู้ถือหุ้นถืออยู่ (Pro Rata Basis)

Q: การออกและเสนอขาย ESOP ให้กับกรรมการและผู้บริหารจะเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือไม่
 
A: การออกและเสนอขาย ESOP ให้กับกรรมการและผู้บริหาร เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน แต่เป็นรายการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน

Q: บริษัทจะดำเนินการสร้างอาคาร office แห่งใหม่ โดยได้ดำเนินการเช่าที่ดินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยในสัญญามีการกำหนดให้สิ่งก่อสร้างและทรัพย์สินบนที่ดินตกเป็นของเจ้าของที่ดินภายหลังสิ้นสุดสัญญาเช่า โดยบริษัทดำเนินการจ้างผู้รับเหมาที่เป็นบุคคลที่สามในการก่อสร้าง  ดังนั้น จะต้องคิดขนาดรายการได้มาซึ่งทรัพย์สิน และรายการที่เกี่ยวโยงกันอย่างไร
 
A: รายการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ในการคำนวณขนาดรายการ บริษัทต้องคำนวณมูลค่าเช่าที่ดินตลอดอายุสัญญารวมกับมูลค่าก่อสร้างอาคาร office ด้วย 
   
รายการที่เกี่ยวโยงกัน เนื่องจากสัญญาการเช่าที่ดินกำหนดว่า หลังสิ้นสุดสัญญาเช่า สิ่งก่อสร้างและทรัพย์สินบนทึ่ดินจะตกเป็นของเจ้าของที่ดิน ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ดังนั้น ในการคำนวณขนาดรายการจึงต้องรวมค่าเช่าที่ดิน ตลอดอายุสัญญาและมูลค่าก่อสร้างอาคาร office เข้าด้วยกัน


 
Q: ควรระบุวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจนของกรรมการอิสระอย่างไร
 
A: แนวปฏิบัติที่ดีในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการระบุว่า คณะกรรมการควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการไว้อย่างชัดเจน โดยระบุไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ในส่วนของกรรมการอิสระ เช่น ควรดำรงตำแหน่งแต่ละวาระไม่เกิน 3 ปี และไม่ควรดำรงตำแหน่งเกิน 3 วาระติดต่อกัน เว้นแต่คณะกรรมการเห็นว่า การดำรงตำแหน่งนานกว่า 3 วาระติดต่อกันไม่มีผลต่อคุณสมบัติความเป็นอิสระ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการควรเปิดเผยความเห็นดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบด้วย


Q: กรรมการอิสระของบริษัทแม่เป็นกรรมการบริษัทลูกจะถือว่าเป็นกรรมการอิสระหรือไม่
 
A: กรรมการอิสระของบริษัทแม่สามารถเป็นกรรมการที่ไม่มีส่วนร่วมบริหารหรือกรรมการอิสระของบริษัทลูกได้ แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระในกลุ่มและค่าตอบแทนรวมที่ได้รับจากกลุ่มบริษัทในแบบ 56-1 และรายงานประจำปี (ไม่ต้องเปิดเผยค่าตอบแทนแยกรายบริษัท)  อย่างไรก็ดี หากกรรมการอิสระของบริษัทแม่รายดังกล่าวเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัทแม่ และบริษัทลูกก็เป็นบริษัทจดทะเบียนด้วย กรณีนี้จะไม่สามารถเป็นกรรมการของบริษัทลูกได้ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งมีผู้ถือหุ้นของตนเองซึ่งต้องมีกรรมการตรวจสอบดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยของตนเองเป็นหลัก หากกรรมการตรวจสอบของบริษัทแม่ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทลูก อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้ 


Q: กรรมการอิสระของบริษัทมีบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทที่ปรึกษานั้นจะมารับงานจากบริษัท ภายหลังจากที่กรรมการอิสระเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว ได้หรือไม่
 
A: ในกรณีที่กรรมการอิสระของบริษัทมีบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทที่ปรึกษานั้นมารับงานจากบริษัท ภายหลังจากที่กรรมการอิสระเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว จะถือเป็นรายการเกี่ยวโยง และกรรมการอิสระรายนั้นจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการทำธุรกรรมนั้นๆ ทำให้กรรมการอิสระรายนั้น ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นกรรมการอิสระอีกต่อไป ทั้งนี้ เว้นแต่มูลค่าของงานเป็นจำนวนเงินที่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีสาระสำคัญ และไม่มีผลต่อความเป็นอิสระของกรรมการอิสระรายนั้น


Q : บจ. ใช้บริการด้านวิชาชีพจากบริษัทของกรรมการอิสระ ("ID") เกินกว่า 2 ล้านบาท ได้หรือไม่
 
A: ตามเกณฑ์คุณสมบัติ ID ห้าม บจ. ใช้บริการทางวิชาชีพต่างๆ เช่นที่ปรึกษาทางกฎหมายจากบริษัทของ ID เช่น บริษัทมี ID เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และ บจ. ได้จ่ายค่าบริการทางวิชาชีพดังกล่าวมากกว่า 2 ล้านบาทต่อปีแต่เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของแต่ละ บจ. BOARD สามารถผ่อนผันเรื่องดังกล่าวได้ หากเห็นว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่กระทบกับการแสดงความเห็นที่เป็นอิสระของ ID นอกจากนี้ หากมีการต่อวาระให้ ID ท่านนั้น ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวาระที่พิจารณาแต่งตั้ง ID ท่านดังกล่าว แบบ 56-1 และรายงานประจำปีในรอบปีนั้น ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้ด้วย
 
- ความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพ
- เหตุผลและความจำเป็นที่ยังคงให้กรรมการท่านดังกล่าวเป็น ID
- ความเห็นของ Board ที่เห็นว่า การเป็น ID ของบุคคลดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการให้ความเห็นที่เป็นอิสระ
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.28/2551 เรื่อง การขออนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ และหนังสือเวียนที่กลต.ก.(ว) 11/2552 เรื่องการปรับปรุงข้อกาหนดเกี่ยวกับกรรมการอิสระ)


Q: หากบริษัทไม่สามารถแยกตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการให้เป็นคนละท่าน ควรทำอย่างไร
 
A: ควรกำหนดแยกบทบาทอำนาจหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งไว้ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอำนาจตัดสินใจ รวมถึงวงเงินอนุมัติด้วย เพื่อมิให้คนใดคนหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะจะก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่บริษัท โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ควรให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ


 
Q: บริษัทขนาดเล็กจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนหรือไม่
 
A: การแต่งตั้งขึ้นอยู่กับความจำเป็น ความเหมาะสม ขนาด และความซับซ้อนของธุรกิจ หากเป็นบริษัทขนาดเล็ก อาจไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งหรืออาจแต่งตั้งในลักษณะกรรมการเฉพาะกิจ (Ad Hoc Committee) หรือเป็นครั้งคราวเมื่อต้องมีวาระให้พิจารณาก็ได้ สิ่งสำคัญคือ บริษัทควรกำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการ หรือวิธีการในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการที่ชัดเจนและโปร่งใส

Q: คณะกรรมการทั้งสองชุดสามารถทำหน้าที่พิจารณาค่าตอบแทนและสรรหาผู้บริหารระดับสูงด้วยได้หรือไม่
 
A: ทำได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการควรกำหนดขอบเขต อำนาจ หน้าที่ ของคณะกรรมการทั้งสองชุดให้ชัดเจน 


Q: คณะกรรมการสามารถแต่งตั้งให้บุคคลภายนอกเป็นกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและกรรมการสรรหาได้หรือไม่
 
A: ไม่มีข้อขัดข้อง ประเด็นที่บริษัทควรพิจารณาคือ บุคคลภายนอกนั้นจะมี Commitment ในการทำหน้าที่มากน้อยเพียงใด หลักการที่ดีในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยทั้งสองคือ ควรมีกรรมการอิสระเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ อาจตั้งบุคคลภายนอกเป็นส่วนน้อยก็ได้
 
Q: บริษัทควรกำหนดค่าตอบแทนกรรมการอย่างไรให้เหมาะสม
 
A: ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ควรสะท้อนถึงความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ จึงควรสูงพอที่จะจูงใจให้กรรมการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล หรือสมเหตุสมผลกับประโยชน์ที่ได้รับจากกรรมการและเปรียบเทียบได้กับค่าตอบแทนของบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรจะสูงเกินไปจนทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายหรือถูกเอาเปรียบ ที่สำคัญคือต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นด้วย