Sign In
FAQ

​​​สิทธิผู้ถือหุ้นและบทบาทผู้ลงทุนสถาบัน​






 
 
Q: การให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น หมายรวมถึงรายการประเภทใดบ้าง
 
A: การให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามมาตรา 89/29 มีความหมายทำนองเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการได้มา/จำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญของกิจการ คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกันด้วย
Q: หากบริษัทมีรายการได้มาจำหน่ายไปในสินทรัพย์ของบริษัท จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกรายการโดยไม่ต้องคำนึงถึงขนาดของรายการใช่หรือไม่
 
A: ไม่ใช่ การได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญของกิจการที่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุม ผู้ถือหุ้นตามมาตรา 89/29 หมายถึง รายการที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท โดยบริษัทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด (ประกาศที่ ทจ. 20/2551) ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้บริษัทปฏิบัติตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการได้มา/จำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญของกิจการ โดยรายการที่มีนัยสำคัญในระดับที่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้แก่ รายการที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของสินทรัพย์มีตัวตนสุทธิของบริษัทจดทะเบียนฯ หรือของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน หรือของสินทรัพย์รวมของบริษัทจดทะเบียนฯ (เลือกสัดส่วนที่มากที่สุด)
Q: ผู้ก่อความเสียหายแก่บริษัทตามมาตรา 89/29 (2) หมายถึงบุคคลใด จะครอบคลุมถึง กรรมการ ผู้ถือหุ้น พนักงาน หรือลูกค้า ของบริษัทหรือไม่
 
A: ผู้ก่อความเสียหายแก่บริษัท หมายถึง บุคคลใดๆ ก็ตามที่ก่อความเสียหายแก่บริษัท และบริษัทมีสิทธิเรียกร้อง 


 

Q: บริษัทมหาชนที่มีการยื่นขอออกหลักทรัพย์กับสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในเรื่องเกณฑ์รายการเกี่ยวโยงกับการได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญหรือไม่

A: มาตรา 89/1 กำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนต้องปฏิบัติตามหมวด 3/1 (การบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์) ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ด้วย เว้นแต่จะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้ออกประกาศที่ ทจ. 20/2558 กำหนดลักษณะของบริษัทที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของหมวด 3/1 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องปฏิบัติตามหมวด 3/1 เช่น บริษัทได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนแต่บริษัทไม่สามารถขายหุ้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนแต่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นยังไม่มีผลใช้บังคับ เป็นต้น ดังนั้น ในกรณีบริษัทมหาชนที่มีการยื่นขอออกหลักทรัพย์กับสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนฯ หากเป็นบริษัทที่ได้รับยกเว้นตามประกาศดังกล่าว ก็ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในเรื่องเกณฑ์รายการเกี่ยวโยงกับการได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญ 

Q: connected transaction กับ related party transaction (RPT) มีความหมายเหมือนกันหรือไม่ และใช้เกณฑ์การอนุมัติเดียวกันหรือไม่
 
A: connected transaction หรือ related party transaction มีความหมายเหมือนกัน คือหมายถึง รายการที่เกี่ยวโยงกันโดยรายการดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด (ประกาศ ที่ ทจ. 21/2551) ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้บริษัทต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดขั้นตอนการทำรายการไว้ตั้งแต่ระดับที่ฝ่ายจัดการสามารถดำเนินการได้เอง ไปจนถึงระดับที่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทและมูลค่ารายการ  การใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นและการประชุมผู้ถือหุ้น (มาตรา 89/18, มาตรา 89/26 และ มาตรา 89/31)

Q: ถ้าผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ถูกส่งมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศทำการเจรจาการค้ากับบริษัทแม่เองแล้ว ทำให้บริษัทเสียเปรียบมากและขาดทุนมาก ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะร้องเรียน ก.ล.ต. ได้หรือไม่ (ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่มีสิทธิฟ้องเอง)
 
A: กรณีที่ผู้บริหารของบริษัทบริหารงานจนทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ผู้ถือหุ้นอาจดำเนินการได้ดังนี้
 
(1) ใช้สิทธิตามมาตรา 85 แห่ง พ.ร.บ. บริษัทมหาชนฯ โดยผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด สามารถมีหนังสือแจ้งให้บริษัทดำเนินการเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการรายนั้นได้ หากบริษัทไม่ดำเนินการตามที่ผู้ถือหุ้นแจ้ง ผู้ถือหุ้นก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนบริษัทก็ได้
 
(2) ใช้สิทธิตามมาตรา 89/18 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งถือหุ้นและมีสิทธิออกเสียงนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดมีหนังสือแจ้งให้บริษัทฟ้องเรียกคืนประโยชน์จากกรรมการที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทเสียหายได้ และหากบริษัทไม่ดำเนินการตามที่ผู้ถือหุ้นแจ้งภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่แจ้ง ผู้ถือหุ้นดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฟ้องเรียกคืนประโยชน์แทนบริษัทได้
 
(3) แจ้งข้อมูลให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบว่ากรรมการ/ผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. จะได้ดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ​