Sign In
โครงการประเมินภาค​การเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก

​​​​​1. การประเมิน FSAP คืออะไร

การประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2542 โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อช่วยให้แต่ละประเทศทราบถึงจุดอ่อน จุดแข็งในภาคการเงินของตน (2) เพื่อประเมินการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (3) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางภาคการเงินและการให้ความสนับสนุนด้านเทคนิค (4) เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ และ (5) เพื่อช่วยจัดลำดับความสำคัญในการออกนโยบายและแผนกลยุทธ์

การประเมิน FSAP เป็นการประเมินภาคการเงินระดับสากลที่ประเทศต่าง ๆ เข้ารับการประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 และ G29 ประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก ขณะที่ประเทศอื่น ๆ สมัครเข้าประเมินโครงการนี้ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

สำหรับรูปแบบการประเมิน FSAP 2 ด้าน (1) การประเมินด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน (Stability) ซึ่งเป็นการประเมินภาคบังคับที่ใช้กับทุกประเทศ และ (2) การประเมินด้านการพัฒนาของระบบการเงิน (Development) ซึ่งเป็นการประเมินที่ใช้กับประเทศที่กำลังพัฒนาและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาภาคการเงินด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

2. การประเมิน FSAP ภาคตลาดทุน  

ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมิน FSAP แบบ Voluntary Basis (สมัครใจ) ครั้งแรกในปี 2550 และต่อมาในปี 2561 – 2562 ทางการไทยได้เข้ารับการประเมินเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น โดยทางการไทยได้เข้ารับการประเมินในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การประเมินกรอบการกำกับดูแลเทียบกับมาตรฐานสากลแบบให้คะแนน และการประเมินกรอบการกำกับดูแลเฉพาะด้านเพื่อให้ความเห็นเชิงนโยบายและคำแนะนำการพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับภาคตลาดทุน ถือเป็นกลไกสำคัญภายใต้ระบบการเงินของประเทศ จึงได้เข้าร่วมโครงการ FSAP เพื่อประเมินประสิทธิผลของภาคตลาดทุน เทียบกับมาตรฐานสากลของ IOSCO Objectives and Principles for Securities Regulation (“IOSCO Principles") จำนวน 37 ข้อ 

 

3.  ประโยชน์ที่จะได้รับ

การเข้าร่วมประเมินดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการกำกับดูแลและพัฒนาการที่ดีของตลาดทุนไทยเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และการพัฒนาที่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำในภูมิภาค และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งยังสร้างโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านตลาดทุน ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ โดยประเมินจากผลตาม IOSCO Principles ที่ดี อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เพิ่มโอกาสให้ทั้งผู้ร่วมตลาด ผู้ลงทุน มีทางเลือกในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ผลการประเมินจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน และมาตรฐานของผู้ร่วมตลาด ซึ่งผู้ลงทุนสถาบัน/ ผู้ดูแลทรัพย์สินต่างประเทศ สามารถนำไปจัดทำ country due diligence ได้  นอกจากนี้ ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย อันจะส่งผลให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

4.  หลักการประเมินตาม IOSCO Principles

IOSCO Principles ได้กำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแลตลาดทุนเพื่อวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1) คุ้มครองผู้ลงทุน 2) ตลาดทุนมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส และ 3) ลดโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อภาคการเงิน ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐาน 37 ข้อ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ มาตรฐานของหน่วยงานกำกับดูแล และมาตรฐานในการกำกับดูแลผู้ร่วมตลาด

เกณฑ์การให้คะแนนประเมิน แบ่งเป็น 4 ระดับจากดีมากไปจนถึงต้องปรับปรุง ได้แก่ ดำเนินการได้ครบถ้วน (Fully Implemented: “FI") ดำเนินการได้เกือบครบถ้วน (Broadly Implemented: “BI") ดำเนินการได้บางส่วน (Partly Implemented: “PI") และไม่สามารถดำเนินการได้ (Not Implemented: “NI") ซึ่งคะแนนที่ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับได้ คือ Broadly Implemented ขึ้นไป

 

5. ผลการประเมิน FSAP

ก.ล.ต. ได้เตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินตั้งแต่ปี 2559 โดยประเมินตนเอง (self-assess) และดำเนินการเพื่อแก้ไข ปรับปรุงประเด็นต่าง ๆ เพื่อปิด gap ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งปรับปรุงตามข้อแนะนำจากการประเมินครั้งที่แล้วเมื่อปี 2550 โดยได้เข้ารับการประเมินในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยผลประเมินในภาพรวมคือ ได้คะแนน Broadly Implemented ขึ้นไปจำนวน 35 ข้อ จาก 37 ข้อ และสามารถสรุปได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มหลักการใหม่ 2) กลุ่มที่มีการพัฒนาการดีขึ้น และ 3) กลุ่มที่ยังคงมาตรฐานได้ดี


1)  กลุ่มทำได้ดีตามมาตรฐานใหม่ จำนวน 9 ข้อ

ก.ล.ต. ได้ผลประเมิน FI จำนวน 8 ข้อจาก 9 ข้อ ได้แก่ กลุ่มบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล เนื่องจากมีมาตรการและขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ  (systemic risk management) การทบทวนขอบเขตการกำกับดูแล (review perimeter of regulation) ให้เท่าทันพัฒนาการและความเสี่ยงใหม่ และการบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในตลาดทุน (managing conflict of interest) และกลุ่มผู้ร่วมตลาด ซึ่งมีผู้สอบบัญชีที่เป็นอิสระ รวมทั้งมีมาตรฐานการสอบบัญชี สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือและนักวิเคราะห์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และมีหลักเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้จัดตั้ง hedge fund ในไทย โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีผลประเมินเรื่องการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีที่ได้ผลประเมิน BI

 

2)  กลุ่มที่มีการพัฒนาการดีขึ้น จำนวน 11 ข้อ

โดยมีหลักการที่พัฒนาดีขึ้น เช่น บุคลากรมีความเป็นมืออาชีพและมีความเป็นอิสระ  การยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและหารือด้านการพัฒนาและติดตามความเสี่ยงเชิงระบบของตลาดการเงินไทย ได้แก่ คณะทำงาน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และ ก.ล.ต. ที่มีหารือกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศภายใต้ Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Co-operation and the Exchange of Information (IOSCO MMoU) ซึ่งช่วยยกระดับในการป้องกันและป้องปรามการทำธุรกรรมผิดกฎหมายในตลาดทุนและตลาดอนุพันธ์ และการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมมาตรการทางแพ่ง (civil sanction) ตลอดจนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) ตามข้อกำหนดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ปี 2562 เพื่อให้การกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งครอบคลุมเรื่องการกำหนดความคาดหวัง และหลักเกณฑ์ให้ตลาดหลักทรัพย์ปฏิบัติ

 

3)  กลุ่มที่ยังคงมาตรฐานได้ดี จำนวน 15 ข้อ

ตัวอย่างเช่น ด้านการจัดการกองทุนรวม ซึ่งได้ผลประเมิน FI เท่ากับครั้งที่แล้ว โดยมีกฎเกณฑ์และมาตรฐานในการให้ใบอนุญาต การกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน การอนุญาตให้ออกและเสนอขายกองทุนรวม การเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อขายหน่วยลงทุน ด้านผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งได้ผลประเมิน FI เท่ากับครั้งที่แล้วเช่นกัน โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เพิ่มเติม ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลเชิงคุณภาพ ตั้งแต่การเสนอขายเป็นครั้งแรก (initial public offering) ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนตลอดเวลา (ongoing)  เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น ด้านตัวกลางในธุรกิจหลักทรัพย์ มีกฎเกณฑ์และมาตรฐานในการให้ใบอนุญาต การกำกับดูแลตัวกลางตลอดจนระบบงานภายใน

 

6.  การดำเนินงานต่อไปของ ก.ล.ต.

ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางปรับปรุงตามข้อแนะนำจากการประเมิน FSAP รวมทั้งอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยจะศึกษาภูมิทัศน์ของตลาดทุน และบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลให้สอดรับการสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนมาตรการที่จะใช้ในการปรับปรุงตามการประเมิน FSAP ไปพร้อมกันด้วย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

รายละเอียดเพิ่มเติม :


Report


​​

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

​ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ

โทรศัพท์ 0 2263 6586 / 0 2033 4679