Sign In
มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

​วัตถุประสงค์​​

1. เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทุกระดับ เป็นตามวัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ในการกำกับดูแล อย่างโปร่งใส เป็นธรรม ปราศจากอคติ ผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสำนักงานในเรื่องดังกล่าว

2. เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทาง และกลไกในการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมสำหรับพนักงาน

 

มาตรการ

 

1. การมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา

    หากพนักงาน หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตน เช่น คู่สมรส บุคคลในครอบครัว ญาติสนิท เพื่อนสนิท หรือบุคคลที่อยู่อาศัยร่วมกัน เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่พนักงานได้รับหรือจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ ซึ่งอาจทำให้พนักงานถูกสงสัย หรือสำนักงานถูกข้อครหาว่า จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเที่ยงธรรม พนักงานต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ในโอกาสแรกเมื่อทราบถึงการได้รับมอบหมายงาน หรือเมื่อทราบถึงการมีส่วนได้เสียนั้น เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาความเหมาะสมในการมอบหมายงาน 

    หากพนักงานมีข้อสงสัย ให้หารือผู้บังคับบัญชา และเลือกการรายงานไว้ก่อน

 

2. การใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์

    พนักงานต้องรักษาเกียรติภูมิ จรรยาบรรณของความเป็นพนักงาน ก.ล.ต. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง โปร่งใส ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม ถูกกฎหมาย และต้องไม่ดำเนินการ ดังนี้

     (1) ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานแสวงหาประโยชน์

     (2) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ หรือมีเจตนาให้บุคคลอื่นเสียหาย

     (3)ใช้ข้อมูลลับหรือข้อมูลที่ได้ล่วงรู้จากการปฏิบัติงานและยังไม่เป็นที่เปิดเผยทั่วไปหรือต่อสาธารณะไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นนอกจากการเปิดเผยตามอำนาจหน้าที่ หรือนำไปแสวงหาหรือใช้เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น


3. การเลี้ยงรับรอง

    พนักงานพึงระมัดระวังอย่างยิ่งและต้องใช้ดุลพินิจในการรับเลี้ยงและการเลี้ยงรับรองบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อมิให้เกิดข้อครหาหรือเข้าใจได้ว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อกัน และการเลี้ยงรับรองเพื่อรักษาสัมพันธภาพในการทำงานปกติทั่วไปหรือตามประเพณีนิยม ต้องมีมูลค่าไม่เกินสามพันบาท (รายละเอียดเพิ่มเติมในมาตรการป้องกันการรับสินบน)

 

4. การซื้อหลักทรัพย์ของพนักงานและครอบครัว

    พนักงานต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การห้ามพนักงานซื้อหลักทรัพย์ตามที่ ก.ล.ต. กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อในนามตนเอง หรือบุคคลอื่น และควรขอให้คู่สมรส และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะของพนักงานปฏิบัติเช่นเดียวกัน หรือดูแลมิให้บุคคลดังกล่าวซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดข้อครหาต่อชื่อเสียงของพนักงาน หรือ ก.ล.ต. โดย ก.ล.ต. มีมาตรการดังนี้

     (1) กำหนดห้ามพนักงานซื้อหุ้นและหลักทรัพย์อื่นบางประเภทไว้ในข้อบังคับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการพนักงาน และพนักงานมีหน้าที่ต้องรายงานการลงทุนในหลักทรัพย์หรือการมีบัญชีซื้อขายที่ ก.ล.ต. มิได้กำหนดห้ามลงทุน รวมถึงมีหน้าที่ต้องรายงานการลงทุน และ/หรือการมีบัญชีซื้อขายของครอบครัว (คู่สมรสตามกฎหมายและที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) โดยบุคคลครอบครัวนั้น ต้องยินยอมให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีดังกล่าวได้ด้ว

     (2) ก.ล.ต. มีการตรวจสอบการลงทุนและซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานและครอบครัว (คู่สมรส ตามกฎหมายและที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)

 

5. การทำงานในองค์กรอื่น

    ห้ามมิให้พนักงานดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ เช่น กรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการในองค์กรอื่น เนื่องจากอาจทำให้มีผลกระทบต่อการทำงาน หรืออาจมีการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ควรทำตามหน้าที่ หรือมีข้อครหาต่อชื่อเสียงของพนักงานหรือ ก.ล.ต. ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นและได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้ว

    พนักงานที่ประสงค์ทำงานอื่นนอกเหนือจากงานของ ก.ล.ต. งานนั้นต้องไม่ใช้เวลางานหรือเป็นงานที่ปฏิบัตินอกเวลาทำการของ ก.ล.ต. และต้องไม่ทำให้มีผลกระทบต่องานในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องไม่ทำให้เกิดข้อครหาต่อชื่อเสียงขององค์กร โดยต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

 

6. การประกอบอาชีพของคู่สมรส บุคคลในครอบครัว ญาติสนิท หรือบุคคลซึ่งอยู่อาศัยร่วมกันในครัวเรือน

    พนักงานต้องรายงานหรือแจ้งเหตุของการกระทำที่ทำให้หรืออาจทำให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เช่น คู่สมรส บุคคลในครอบครัว ญาติสนิทของตน หรือบุคคลที่อยู่อาศัยร่วมกัน ประกอบอาชีพ หรือทำการงานที่อาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือต่อการปฏิบัติงาน
เป็นต้น

 

7. การได้รับคำชักชวนให้ไปปฏิบัติงานกับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

    ​พนักงานควรรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หากได้รับคำชักชวนจากบุคคลหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ให้ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลนั้น


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

SEC Help Center

​โทรศัพท์ 1207