Sign In
​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​
​​​​​​​​​​​​​​​​
​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​
​​​​​             
         About Us​​​​​​​

​ ​​​

เพราะความเท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน และปัจจัยด้านสังคมที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในบริบทปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ส่งเสริมและขับเคลื่อนงานผ่าน “แผนดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทย” ครอบคลุมเครื่องมือสนับสนุน โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ  มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรสำคัญ เช่น UN Women กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เป็นต้น


สำนักงาน ก.ล.ต. หวังว่า Gender Corner จะเป็นแหล่งบูรณาการข้อมูล เครื่องมือสนับสนุน โครงการ กิจกรรมความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในตลาดทุน นำไปสู่การต่อยอดและขยายผลลัพธ์ไปสู่วงกว้าง เพื่อความยั่งยืนของสังคมและประเทศต่อไป​

​​



​​ความเป็นมา​​


สำนักงาน ก.ล.ต. มีพันธกิจสำคัญในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (“ESG”) 

​โดยหนึ่งในเรือธงแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.ล.ต. คือ การยกระดับศักยภาพตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียนสามารถเห็นประโยชน์ ความเสี่ยง และสามารถผนวกเรื่อง ESG เข้าไปในการประกอบธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะในมิติด้านสังคมที่ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมทั้งความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมศักยภาพหรือการเพิ่มบทบาทของสตรี (Women’s Empowerment) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: “SDGs”) โดยเฉพาะ SDGs เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ​

  

​​​ตัวอย่างการดำเนินการ

1. การเพิ่มบทบา​ทสตรีในระดับผู้นำองค์กร

1) จัดทำคำแนะนำประเด็นความหลากหลายทางเพศของคณะกรรมการ (Guidance on Gender Diversity on Boards) สําหรับหลักปฏิบัติ 3 เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผลของหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีสําหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code) เพื่อเสริมหลักปฏิบัติเกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมการที่คำนึงถึงมิติคุณสมบัติที่หลากหลาย (Board Diversity)

2) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลองค์ประกอบและข้อมูลพื้นฐานของคณะกรรมการที่สะท้อนถึงคุณสมบัติ ความสามารถ และความหลากหลายด้านทักษะ ความชำนาญ รวมทั้งเพศและอายุ ​ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (“แบบรายงาน 56-1 One Report”)

3) ออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัทจดทะเบียนพิจารณาเพิ่มสัดส่วนกรรมการหญิงให้เป็นอย่างน้อยร้อยละ 30    

4) ร่วมอยู่ในคณะทำงานพิจารณาปรับเกณฑ์ Corporate Governance Reporting หรือ CGR ที่เน้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) ของคณะกรรมการยิ่งขึ้น 

5) ออกบทความ “ผู้นำสตรีกับพลวัตรการขับเคลื่อนองค์กรภาคธุรกิจในบริบทของตลาดทุนไทย” รวมทั้งเครื่องมือต่าง ๆ เช่น infographics และจัดงานเสวนาออนไลน์ “วิสัยทัศน์ ความท้าทาย และก้าวต่อไปของกรรมการหญิง” และงานเสวนา “บทบาทผู้นำและการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน" เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกรรมการหญิง


2.  การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ​​

1) ออกหนังสือเวียนเชิญชวนให้ บจ. พิจารณานำแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ  ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (“กรมกิจการสตรีฯ”) รวมทั้งหลักการว่าด้วยการเสริมสร้างพลังของสตรี (Women’s Empowerment Principles: “WEPs”) ขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (“UN Women”) ไปปรับใช้ เพื่อทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ และสามารถเปิดเผยข้อมูลการดำเนิน ในแบบรายงาน 56-1 One Report ต่อไป

2) ร่วมกับ UN Women และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (“สสว.”) จัดงาน Thailand WEPs Awards 2021 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2564 เพื่อยกย่องและสนับสนุนบริษัทเอกชนและ บจ. ที่ให้ความสำคัญต่อการมีวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ และสำหรับงาน Thailand WEPs Awards 2022 อดีตท่านเลขาธิการ (นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล) ได้เข้าร่วมเป็นผู้เสวนาช่วง Fireside Discussion ในหัวข้อ “From insights to action: lever of transformative change towards gender-inclusive recovery” พร้อมทั้งรับมอบโล่ WEPs Exemplary Ally Recognition

3) ร่วมกับ UN Women และมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย จัดงาน ‘Inclusive Leadership means Better Business’ เพื่อรณรงค์ให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นผู้นำของคนทุกเพศ รวมถึงการรายงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติทางเพศ 

4) ร่วมกับ UN Women และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Ring the Bell for Gender Equality 2022 เพื่อลั่นระฆังส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการส่งเสริมพลังสตรี เนื่องในวันสตรีสากล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และ Ring the Bell for Gender Equality 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566


3. การสร้างโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุน

1) สนับสนุนโครงการส่งเสริมสตรีให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นกรรมการของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย  (“IOD”) โดยการสนับสนุนให้ทุนแก่สตรีให้ได้รับโอกาสในการเข้าอบรมหลักสูตรพื้นฐานสำหรับการทำหน้าที่เป็นกรรมการ ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการทำหน้าที่กรรมการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สตรีที่ผ่านการอบรมจะมีชื่อบรรจุอยู่ในทำเนียบกรรมการ หรือ directors pool ของ IOD ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้รับบทบาทการเป็นผู้นำมากขึ้น และเพิ่มจำนวนสตรีที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเป็นกรรมการ

2) ออกหลักเกณฑ์การออกผลิตภัณฑ์การระดมทุนและลงทุนที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น social bond พร้อมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ filing) จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2568 

3) ร่วมกับกรมกิจการสตรีฯ จัดทำวีดิทัศน์เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างวินัยทางการเงินและการออมเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มสตรีและครอบครัวมีความรู้ด้านการจัดการเงินส่วนบุคคล ส่งเสริมวินัยทางการเงิน และสามารถบริหารจัดการเงินออมเพื่อเป็นแหล่งทุนในการประกอบอาชีพและถ่ายทอดความรู้ด้านการเงินไปยังชุมชนได้ นอกจากนี้ สำนักงานได้ร่วมออกบูธนิทรรศการใน​งานกิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (Gender Fair) ซึ่งเป็นงานเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในวงกว้าง

4) ร่วมกับ UN Women จัดทำเอกสาร WEPs Case study และเอกสาร WEPs Policy Roadmap Country Brief: Thailand เพื่อเป็นแนวทางและกรณีศึกษาสำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ​

5) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลของ UN Women เช่น เอกสารและเครื่องมือเกี่ยวกับหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี ให้มาปรากฎอยู่บน Gender Corner เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยขน์ต่อหน่วยงานในตลาดทุนและผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องที่สนใจ​


4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในตลาดทุน​

​ในการขับเคลื่อนงานแผนดำเนินการฯ สำนักงานให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งใ​นปร​ะเทศและ ระดับสากลตามที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ สำนักงานได้นำเสนอบทบาทของตลาดทุนในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มบทบาทผู้นำของสตรี ผ่านความร่วมมือและโอกาสสำคัญอื่น เช่น

  • การร่วมเป็นคณะทำงานด้านสารัตถะในการจัดประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ปี 2565

  • ​​​การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2565 หรือ Global Summit of Women 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน​


​​​