Sign In
ตราสารทุน

​​​​รู้ทัน "วอร์แรนท์"

วอร์แรนท์ (Warrant) เป็นตราสารที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กันอย่างคึกคัก แต่กลับเป็นสิ่งที่เข้าใจยากสำหรับผู้ลงทุน ผู้ที่จะลงมาเล่นในสนามนี้ควรอย่างยิ่งต้องรู้ลึกรู้จริงแบบ “ถ่องแท้" ถึงธรรมชาติและความเสี่ยงของตราสารประเภทนี้  
.
วันนี้ กัปตัน ก.ล.ต. มีสาระดี ๆ ย่อยง่ายเกี่ยวกับเจ้า “วอร์แรนท์" มาฝาก อ่านตามทีละแผ่นเลยคร้าบ..


วอร์แรนท์ คือ ตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือ ในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Asset) ตามราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) จำนวนที่ให้ใช้สิทธิ (นิยมใช้เป็นอัตราส่วน เช่น 1:2  แปลว่า 1 วอร์แรนท์ แลกได้ 2 หุ้น) และภายในระยะเวลาที่กำหนด

จะเปรียบไปลักษณะ วอร์แรนท์ ก็เป็นใบจองประเภทหนึ่งเพื่อซื้อหุ้น คล้ายใบจองเพื่อซื้อคอนโด

โดยทั่วไป หลักทรัพย์อ้างอิง จะเป็นหุ้นของบริษัทที่ออกวอร์แรนท์ (หุ้นแม่) แต่หากเป็นวอร์แรนท์ให้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัทอื่น จะเรียกว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant หรือ DW)

ตัวอย่าง บริษัท เป็ด จำกัด (มหาชน) มีหุ้นชื่อ PED เมื่อออกวอร์แรนท์ ไม่ว่าจะเพื่อแจกฟรีเป็นปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือเพิ่มสภาพคล่อง วอร์แรนท์จะชื่อว่า PED-W1 ล็อตต่อไปเป็น PED-W2 และ PED-W3 เรียงกันไป

ผลตอบแทนของวอร์แรนท์มาจาก...

1. ขายวอร์แรนท์ ให้ผู้สนใจได้ในราคาสูงกว่าที่ซื้อมา

2. ใช้สิทธิวอร์แรนท์ แปลงเป็นหุ้นแม่ = ได้หุ้นเพิ่ม ... และหากราคาดีขายหุ้นในตลาด = ทำกำไร

วอร์แรนท์บางช่วงก็มีค่า บางช่วงก็ไม่มีค่า...ผู้ลงทุนต้องพึงระวังเรื่องมูลค่าของวอร์แรนท์

กรณีที่ราคาใช้สิทธิ (รวมกับราคา warrant) ต่ำกว่าราคาหุ้นแม่ในตลาด  เราจะใช้สิทธิซื้อหุ้น และเอาหุ้นนั้นไปขายในตลาด ทำกำไร  ซึ่งวอร์แรนท์นั้นจะมีมูลค่า หรือเรียกว่า in-the money

ในทางกลับกัน ถ้าราคาใช้สิทธิ (รวมกับราคา warrant) สูงกว่าราคาหุ้นแม่ในตลาด มักไม่ใช้สิทธิ เพราะไปซื้อหุ้นนั้นในตลาดได้ในราคาที่ถูกกว่า วอร์แรนท์นั้นจะไม่มีมูลค่า หรือเรียกว่า out-of-the money

สิ่งที่ทำให้วอร์แรนท์ดึงดูดผู้ลงทุน คือ ความเป็น Leverage ที่หมายถึง การลงทุนที่ใช้เงินน้อยแต่มีโอกาสได้กำไรมาก โดยจำกัดความสูญเสีย อย่างมากคือต้นทุนที่ได้ warrant มา บางคนได้ฟรีก็ไม่เสียอะไร ส่วนผู้ที่ซื้อในตลาด แล้วใช้สิทธิไม่ทันจะขาดทุนเท่าราคาที่ซื้อมา


4 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Warrant

ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะหุ้นมีค่าความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง แต่หากเป็นการลงทุนในวอร์แรนท์ ยิ่งต้องตระหนักถึงความเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะต้องดูทั้งความเสี่ยงของหุ้นอ้างอิง และความเสี่ยงของวอร์แรนท์เองอีกด้วย

หุ้นกับวอร์แรนท์ แม้จะคล้ายกัน แต่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ในแง่ความเป็นเจ้าของที่แท้จริง

- ผู้ถือหุ้น คือ เจ้าของร่วม

- ผู้ถือวอร์แรนท์ คือ ผู้ที่มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของ มีใบจองแต่ยังไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง

นอกจากเรื่องความเป็นเจ้าของแล้ว ไปดูกันว่าอีก 4 เรื่องวอร์แรนท์ที่เข้าใจผิดมากที่สุด มีอะไรบ้าง



ผู้ลงทุนมือใหม่อาจเผลอคิดว่าวอร์แรนท์เหมือนหุ้น จะถือนานแค่ไหนก็ได้

คุณเข้าใจผิดนะครับ เพราะ...

วอร์แรนท์มีวันหมดอายุ!

โดยปกติ วอร์แรนท์ ที่บริษัทออกจะมีอายุไม่เกิน 10 ปี โดยในข้อกำหนดสิทธิ จะกำหนดอายุ ราคา อัตราใช้สิทธิ และวิธีการใช้สิทธิ

ฉะนั้น ระหว่างการถือครองตราสารตัวนี้ ผู้ลงทุนต้องบริหารจัดการให้ดี ว่าจะขาย หรือจะใช้สิทธิ เมื่อใด เพราะหากเผลอลืม แล้วปล่อยให้หมดอายุไปเฉย ๆ วอร์แรนท์ดังกล่าวจะมีมูลค่าเป็นศูนย์ทันที  ผู้ลงทุนก็ไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้อีก




หากผู้ลงทุนมีความมั่นใจว่าจะบริหารจัดการใช้สิทธิได้แน่ วันไหนทำกำไรได้ จะใช้สิทธิวันนั้น

คุณเข้าใจผิดนะครับ เพราะ...

วอร์แรนท์ กำหนดวันที่ใช้สิทธิแลกซื้อหุ้นแม่ (และราคาใช้สิทธิ) ไว้ชัดเจน บางครั้งกำหนดให้ใช้สิทธิทุกเดือน ทุกสามเดือน หรือทุกหกเดือน ผู้ลงทุนจึงไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามที่ต้องการทันที

ดยส่วนใหญ่บริษัทจะส่งจดหมายหรืออีเมล รวมทั้งแจ้งบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ให้ผู้ถือวอร์แรนท์ ทราบถึงวันและราคาใช้สิทธิ ในการแลกวอร์แรนท์เป็นหุ้นแม่

หากคิดว่ารอบนี้ ยังไม่คุ้มก็ผ่านไป แต่อยากบอกให้รู้ไว้ ยิ่งใกล้หมดอายุ คนมักจะอยากขายอาจทำให้ราคาวอร์แรนท์ต เพราะหากหมดอายุ วอร์แรนท์จะกลายเป็นแค่กระดาษที่ไม่มีมูลค่าอันใด




ผู้ลงทุนบางคนตั้งใจถือยาว เพราะเชื่อว่า ราคาจะปรับขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนานยิ่งกำไร

คุณเข้าใจผิดนะครับ เพราะ...

วอร์แรนท์ เป็นแค่เอกสารที่ให้สิทธิบางอย่าง ราคาจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับ

(1) สิ่งที่ไปอ้างอิง ในที่นี้ คือ ราคาหุ้นแม่ โดยธรรมชาติของตราสารทุนนั้น ราคาปรับขึ้น-ลง ตามปัจจัยพื้นฐาน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ แผนการลงทุนโครงการใหม่ ผลประกอบการ เป็นต้น และ (2) ยังขึ้นอยู่กับความต้องการ (ดีมานด์-ซัพพลาย) ตามกลไกตลาด  คนอยากซื้อ-ราคาก็ดี คนไม่อยากซื้อ-ราคาก็ตก

ผู้ถือวอร์แรนท์ จึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสารของบริษัทและข่าวที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย 




หลายคนเลือกลงทุนวอร์แรนท์ ในหุ้นที่ราคาขาขึ้น เพราะคิดว่าราคาวอร์แรนท์ต้องขึ้นเหมือนกันแน่

คุณเข้าใจผิดนะครับ เพราะ...

าคาหุ้นแม่กับราคาวอร์แรนท์ ไม่ได้เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกันเสมอไป

จริงอยู่ หุ้นแม่กับวอร์แรนท์ของบริษัทเดียวกัน ปัจจัยพื้นฐานเดียวกัน ราคาควรเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

แต่วอร์แรนท์ มีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่มีข้อจำกัด เช่น วันหมดอายุ วันใช้สิทธิ ความเสี่ยงสูงที่ดึงดูดคนต้องการผลตอบแทนสูงให้กระโจนเข้ามา หลายต่อหลายครั้งราคาวอร์แรนท์จึงสวนทางออกมาจากราคาหุ้นแม่

ารลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงสูงโดยหวังผลตอบแทนสูง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ  ถ้าปล่อยปละละเลยไป มีโอกาสขาดทุนสูงมากเช่นกัน




สรุป จะลงทุนวอร์แรนท์ ถามตัวเองก่อนว่ารู้ความเสี่ยงเหล่านี้ดีหรือยัง?

1. ลักษณะความเสี่ยงคล้ายหุ้น แต่ระดับความเสี่ยงมากกว่าหุ้น เพราะหุ้นไม่มีอายุ แต่วอร์แรนท์มีอายุ มีกำหนดวันและราคาใช้สิทธิ

2. ราคาวอร์แรนท์อาจไม่สอดคล้องกับราคาหุ้นแม่ เช่น กรณีที่วอร์แรนท์อยู่ในสถานะ out-of-the money (ราคาหุ้นแม่ต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ) มาก ราคาวอร์แรนท์อาจไม่ขยับหรือลดลง แม้ราคาหุ้นแม่ขึ้น

3. ราคาวอร์แรนท์อาจผันผวนมากกว่าหุ้นแม่ เช่น ถ้าหุ้นแม่ ขึ้น 1% วอร์แรนท์อาจขึ้นถึง 5% ทางกลับกัน ถ้าหุ้นแม่ลง 1% วอร์แรนท์อาจลงได้ถึง 5%

เมื่อดูความเสี่ยงแล้ว วอร์แรนท์คงจะเหมาะกับ..

- ผู้คาดหวังผลตอบแทนสูง สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้ แม้มูลค่าเหลือศูนย์ก็ตาม

- ผู้ที่เชี่ยวชาญในการลงทุนในหลักทรัพย์ และเข้าใจตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างดี

ด้วยความที่วอร์แรนท์ มี ความเสี่ยงสูง  อีกทั้งเป็นตราสารที่มีอายุ ควรมองแนวโน้มและจัดสรรวอร์แรนท์ในมือให้ดี อย่างน้อยต้องมีแผนตัดขาดทุน ป้องกันไม่ให้วอร์แรนท์ในมือไร้ค่าเป็นศูนย์ นั่นเองคร้าบ​