Sign In
กฎกระทรวง

​​​​​​​กฎกระทรวง
ฉบับ​ที่ 15 (พ.ศ. 2543)
ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 


อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 90 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฏกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ให้ยกเลิก

(1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) กฏกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535


ข้อ 2 ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎกระทรวงนี้ได้ต้องเป็น

(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

(2) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(3) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(4) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต

(5) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา หรือ

(6) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งมีนิติบุคคลตาม (1) ถึง (5) รายหนึ่งรายใดถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด


ข้อ 3 ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นนิติบุคคลตามข้อ 2(1) ถึง (5) เว้นแต่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมาย ว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต แล้วแต่กรณี ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) สามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น

(2) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน

(3) ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับใบอนุญาตต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉลหรือทุจริต

(4) ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับใบอนุญาต ต้องไม่มีประวัติการดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวงหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าหรือขาดความรอบคอบ หรือสะท้อนถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือ

(5) แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(6) แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคคลกรรมการ ผู้จัดการ และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ เกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลของนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดใน (3) และ (4)

 

ในกรณีที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมาย ว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต แล้วแต่กรณี เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้จัดการสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศ ตามวรรคสามต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบุคคลตามวรรคสอง


ข้อ 4 บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่าทุนจดทะเบียน ซึ่งชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(2) มีคุณสมบัติตามข้อ 3(5) และ (6)

(3) ต้องแสดงได้ว่าจะมีเงินกองทุนหมุนเวียน ที่เพียงพอต่อประมาณการรายจ่ายในการประกอบธุรกิจตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

(4) ผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 3(2)(3)และ (4)

 

ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นตาม (4) เป็นนิติบุคคลตามข้อ 2(1) ถึง (5) นิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 3(1) และกรรมการ และผู้จัดการของนิติบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 3(3) และ (4)


ข้อ 5 ให้ผู้ที่ประสงค์จะขอรับความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่ เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ยื่นคำขอต่อสำนักงานภายในระยะเวลา และตามแบบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

 

การยื่นคำขอรับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นพร้อมกับสำเนาคำขอสองชุด เอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวสองชุด


ข้อ 6 ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอ และเอกสารหลักฐานครบถ้วนให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งบริษัทตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.


ข้อ 7 เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อ 6 แล้ว ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามที่ได้รับความเห็นชอบ และให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลต่อสำนักงานภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบตามแบบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

 

การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นพร้อมสำเนาคำขอสองชุด เอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวสอง

ข้อ 8 ในกรณีที่นิติบุคคลตามข้อ 2(1) ถึง (5) ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้นิติบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอต่อสำนักงานภายในระยะเวลาและตามแบบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา


การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นพร้อมกับสำเนาคำขอสองชุด เอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวสองชุด

 

ข้อ 9 ในการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎกระทรวงนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยินยอมและอำนวยความสะดวกให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ขอรับใบอนุญาต หรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน การดำเนินงาน สินทรัพย์หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้ขอรับใบอนุญาต


ข้อ 10 ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามข้อ 7 หรือข้อ 8 เป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน และให้รัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา


ข้อ 11 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะเริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อสำนักงานตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้ได้รับใบอนุญาตได้จัดให้มีระบบงาน บุคลากร และเงินกองทุนหมุนเวียนที่พร้อมจะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามที่ได้แสดงไว้ในข้อ 3 หรือข้อ 4 แล้วแต่กรณี


ข้อ 12 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอัตรา ดังนี้

(1) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล คำขอละ 10,000 บาท

(2) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตปีละสองรอบ รอบละหกเดือนตามปีปฏิทิน โดยค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระในแต่ละรอบให้คิดในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.0045 ถึง 0.025 ของค่าเฉลี่ยของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนส่วนบุคคลทุกกองทุนที่อยู่ภายใต้การจัดการของผู้ได้รับใบอนุญาตในรอบระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท และไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อปี


อัตราค่าธรรมเนียมตาม (2) จะกำหนดให้ใช้ในอัตราใด และสำหรับปีใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา


ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับรอบหกเดือนที่หนึ่งให้ชำระภายในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี และรอบหกเดือนที่สองให้ชำระภายในวันที่ 31 มกราคมของปีถัดไป เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลิกประกอบธุรกิจหรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนนตรีอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจหรือวันที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาต


ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนด หรือชำระค่าธรรมเนียมไม่ครบถ้วน ต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกร้อยละสองต่อเดือนของค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนแล้ว


ข้อ 13 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้


ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งชำระไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับปีที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับหากมีจำนวนเกินกว่าค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตที่ต้องชำระตามกฎกระทรวงนี้ ให้ถือว่าค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินนั้นเป็นค่าธรรมเนียมที่ชำระไว้ล่วงหน้าบางส่วนหรือทั้งหมดแล้วแต่กรณี

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2543

 

(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​



ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกฎหมายและพัฒนา

โทรศัพท์ 0-2033-9525​