Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยง



วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 | ฉบับที่ 162 / 2566


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อให้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทซึ่งสอดคล้องกับการกำกับดูแลในต่างประเทศ

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) เพื่อให้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งการออกและเสนอขายในตลาดแรก และการประกอบธุรกิจในตลาดรอง ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมตามลักษณะและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภท* และมีวิธีการกำกับดูแลที่เป็นสากล สอดคล้องกับการกำกับดูแลในต่างประเทศ

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(1) การปรับปรุงนิยามสินทรัพย์ดิจิทัล จากเดิมที่มีการกำหนดแยกเป็นคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ให้หมายความถึงคริปโทแอสเซท (crypto asset)** ซึ่งถูกสร้างโดยมีการใช้วิธีการเข้ารหัสในการคุ้มครองข้อมูล (cryptography method) และมีการใช้กลไกของเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLTs) หรือเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกันในการบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดังกล่าว และให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลได้ (positive list) 

(2) การปรับปรุงหลักการกำกับดูแลการออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดแรก ให้สอดคล้องกับขอบเขตสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลซึ่งไม่มีลักษณะของการระดมทุนและไม่มีความคาดหวังความสำเร็จของโครงการหรือคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการแล้ว โดยกำหนดให้การออกและเสนอขายต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. แทนการได้รับอนุญาต พร้อมทั้งยกเลิกการกำหนดให้ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลในการเสนอขายมีความเหมาะสมกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกเสนอขาย

สำหรับในส่วนของการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. ยังคงหลักการเดิมตามที่ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำหนด โดยกำกับดูแลผ่านการให้ใบอนุญาตและกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจ เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองผู้ซื้อขายเช่นเดิม

(3) การปรับปรุงและแก้ไขหลักการในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับปรุงการกำกับดูแลบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บทกำหนดโทษและอายุความในการดำเนินคดี เพื่อให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=939  และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/  ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: pinyapat@sec.or.th หรือ phireeyaphon@sec.or.th จนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2566

________________________


หมายเหตุ: 

*ตามหลักการ same activity, same risk, same rule and same supervision 

**สินทรัพย์ดิจิทัลที่กำหนดตามการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว มีลักษณะร่วมพื้นฐาน 4 ประการ (4 key elements) กล่าวคือ (1) มีการออกแบบและใช้งานในรูปแบบดิจิทัล (issued & represented in digital form) 

(2) เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง (intangible asset) (3) ผู้ถือต้องการถือสิทธิเหนือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น (right to control) และ (4) สามารถเปลี่ยนมือได้ (transferable)






ข่าวในหมวดเดียวกัน

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ก.ล.ต. ย้ำห้ามศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการ Meme Token และกำชับนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ทำให้เข้าใจผิด
ก.ล.ต. เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ให้บริการด้านการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุญาต และการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ
ก.ล.ต. มีแนวคิดเปิดโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ก.ล.ต. กำชับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ระมัดระวังการโฆษณาส่งเสริมการขาย รวมทั้งการจัดให้มี ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (IBA) และเน้นย้ำให้คำนึงวัตถุประสงค์ในการให้บริการเป็นสำคัญ