สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 และตรวจสอบเพิ่มเติม พบผู้กระทำความผิด 2 ราย
ได้แก่ (1) นายสุธี ศิริพรพิทักษ์ และ (2) นายพีรณัฐ ศิริพรพิทักษ์ ซึ่งเป็นบุตรของนายสุธี
ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานสร้างราคาหลักทรัพย์ในช่วงระหว่างการซื้อขายภาคบ่ายของวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม
2564 โดยนายสุธีและนายพีรณัฐ มีเส้นทางการเงินและทางหุ้นเกี่ยวเนื่องกัน
รวมทั้งนายสุธีเป็นผู้รับมอบอำนาจในการส่งคำสั่งซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายพีรณัฐ
ซึ่งในช่วงเกิดเหตุนายสุธีส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น RPC ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายพีรณัฐในลักษณะสร้างราคา
ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์
เช่น ผลักดันราคาต่อเนื่อง สลับขายทำกำไรระหว่างวัน
ครองคำสั่งเสนอซื้อ (Bid) และทำราคาปิด เป็นต้น ขณะเดียวกันนายพีรณัฐได้ขายหุ้น
RPC ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์อื่นของตนเอง
ในลักษณะสอดรับกับการซื้อขายในบัญชีหลักทรัพย์ที่ได้มอบอำนาจให้นายสุธีส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะสร้างราคาดังกล่าว
การกระทำของบุคคลทั้ง
2 รายข้างต้น เป็นความผิดตามมาตรา 244/3 (1) ประกอบมาตรา 244/6 (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) แล้วแต่กรณี
ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5
แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) จึงมีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง
2 ราย ดังนี้
(1)
ให้นายสุธี ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ
ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด จำนวน
71,016,984 บาท
รวมถึงห้ามนายสุธีซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 14 เดือน
และ 28 เดือน ตามลำดับ
(2) ให้นายพีรณัฐ
ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ
ก.ล.ต.
เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด จำนวน 712,848 บาท รวมถึงห้ามนายพีรณัฐซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 8.5 เดือน และ 17 เดือน
ตามลำดับ
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่
ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต.
จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ
โดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้
เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง