สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ
(Thailand ESG Extra Fund: Thai ESGX) ที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืน
หรือสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ออกเป็นภาครัฐไทยหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งจะต้องลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืน (ESG) โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่
11 มีนาคม 2568 ที่ได้เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)
ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ตามมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG
และเพิ่มเสถียรภาพตลาดทุนไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า “ก.ล.ต. ได้ออกประกาศเพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ
รวม 14 ฉบับ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
(บลจ.) สามารถส่งคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม Thai
ESGX ได้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2568 เป็นต้นไป โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และสมาชิก ได้ขอให้ ก.ล.ต.
อนุมัติกองทุนรวม Thai ESGX ชุดแรกในวันที่ 29 เมษายน 2568 เพื่อเสนอขายพร้อมกันในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 รวม 36 กองทุน ทั้งนี้
ก.ล.ต. ขอย้ำเตือนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ประสงค์ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
จะต้องสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX ให้ครบทุกกองทุน ทุก บลจ. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดด้วย*”
นอกจากนี้ ก.ล.ต. มุ่งหวังว่า Thai ESGX จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทยในระดับสากลโดย Thai ESGX
ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
โดยกองทุนนี้จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งกองทุนที่ยื่นในปี 2568 จาก
ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund และ Thai ESG ด้วย**
หมายเหตุ :
*สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืนและเพิ่มเสถียรภาพตลาดทุนไทย
สำหรับผู้ลงทุนใน Thai ESGX ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 398 (พ.ศ. 2568)
ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
โดยแบ่งวงเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีออกเป็น 2
วงเงิน ประกอบด้วย
วงเงินที่ 1
สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจลงทุนใน Thai ESGX
ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2568 วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกินร้อยละ
30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท
โดยต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี (วันชนวัน นับแต่วันที่ลงทุน)
วงเงินที่ 2 สำหรับผู้ที่ถือหน่วยลงทุน
LTF
ณ วันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่แจ้งความประสงค์สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม
ทั้งหมดใน LTF ทุกกองทุนในทุก บลจ. (ไม่รวม class หน่วยภาษีอื่นภายใต้กองทุนเดียวกัน เช่น class SSF)
มาเป็นหน่วยลงทุนของ Thai ESGX
ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2568 วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด
500,000 บาท โดยทยอยลดหย่อน 5 ปี ตั้งแต่ปีภาษี 2568 – 2572 ในปีแรก (2568) วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด
300,000 บาท และปีที่ 2 – 5 (2569
- 2572) ให้ได้รับลดหย่อนเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี เช่น
ผู้ถือหน่วยลงทุนสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai
ESGX มูลค่า 380,000 บาท
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ ดังนี้ ปีที่ 1 จำนวน 300,000 บาท
และปีที่ 2 – 5 ปีละ 20,000 บาท
ทั้งนี้
ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของ Thai ESGX ได้ที่ www.sec.or.th
หรือ https://www.sec.or.th/TH/Pages/KnowledgeCapitalMarket/Knowledge-CapitalMarket-THAIESGX.aspx
**หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน
(SRI Fund) กำหนดให้ บลจ. ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน
เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) โดย
ก.ล.ต. ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบด้วยค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง
100,000 บาท ต่อกองทุนรวม สำหรับคำขอที่ยื่นระหว่างปี 2568