สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ในปี 2566 และตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 14 พฤศจิกายน
2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2565 ของ AH ที่มีกำไรสุทธิ
600.68 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสก่อนหน้าของปีเดียวกันและไตรมาสเดียวกันของปี
2564 อันเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อราคาหุ้น AH ซึ่งเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18.03 น. พบการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิด 3
ราย ดังนี้
(1) นายวิโรจน์ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทย่อยของ AH ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้
และเป็นผู้อยู่กินฉันสามีของผู้บริหารรายหนึ่งของ AH ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน
ได้ซื้อหุ้น AH โดยใช้ข้อมูลภายในดังกล่าวในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง
อันเป็นความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(2) และ(5)
ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา
317/5 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535
(2) MRS. TEO LEE NGO ซึ่งเป็นกรรมการของ AH ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้
และเป็นภรรยาของผู้บริหารรายหนึ่งและเป็นมารดาของผู้บริหารอีกรายหนึ่งของ AH
ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ได้ร่วมกับ (3) MR.
KOH LIAN KING ซื้อหุ้น AH ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ
MR. KOH LIAN KING โดยใช้ข้อมูลภายในดังกล่าว
ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนหุ้น AH ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นของ
MR. KOH LIAN KING และส่วนใดมี MRS. TEO LEE NGO เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง อันเป็นความผิดฐานซื้อหลักทรัพย์โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา
242(1)
ประกอบมาตรา 243(1) 244(3) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา
83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 242(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 5 ประกอบมาตรา 83
แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ ทั้งนี้
ความผิดดังกล่าวมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา
317/4 มาตรา 317/5 และมาตรา 317/11
วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์
ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 5
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง
(ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง
ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต.
เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด
และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์
ดังนี้
(1)
ให้นายวิโรจน์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง
ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น
5,168,972 บาทและกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12
เดือน
(2) ให้
MRS. TEO LEE NGO ชำระค่าปรับทางแพ่ง
ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ
ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,302,885 บาท
และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 14
เดือน
(3) ให้
MR. KOH LIAN KING ชำระค่าปรับทางแพ่ง
ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ
ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 695,722 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่
ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่
ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต.
จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่
ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้
เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ
: *มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่
5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
อ่านรายละเอียด
“การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanctions)”
ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/CivilPenalty.aspx