Sign In
ข่าว ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เปิดตัว “Digital Infrastructure” ร่วมกับภาครัฐและเอกชน พลิกโฉมตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล



วันพุธที่ 24 มีนาคม 2564 | ฉบับที่ 62 / 2564


ก.ล.ต. เปิดตัวระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายใต้โครงการ Sandbox เพื่อพลิกโฉมตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล โดยปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมในตลาดทุนให้เป็นดิจิทัล 100% เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส อำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ลดต้นทุนให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมสากล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงาน “พลิกโฉมตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล : เปิดตัวระบบ Digital Infrastructure ภายใต้ Sandbox ก.ล.ต.” โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล” ในงานเปิดตัวโครงการและแสดงเจตนารมณ์ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการใช้งานระบบ Digital Infrastructure ร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก  

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ของตลาดทุนไทยที่ ก.ล.ต. ริเริ่มขึ้นนั้นเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 – 2564) เรื่อง การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล (Digital Transformation) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยเชื่อมโยงผู้ร่วมตลาดทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นระบบนิเวศทางการเงินผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง โดยในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (end-to-end process) นั้นจำเป็นต้องพัฒนา 3P คือ Process Product และ Payment ให้สอดรับกัน

“โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนี้ นอกจากจะช่วยให้ตลาดทุนไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โครงการนี้ยังถือเป็น Milestone ของตลาดทุนไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ถัดจากสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ ที่สามารถพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital platform) ที่ให้บริการครบวงจรครอบคลุมตราสารทุกประเภท อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ จึงขอให้ผู้ร่วมพัฒนาโครงการนี้ และ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการสร้างสภาวะ Cyber Resilience ให้แก่ตลาดทุน รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Protection)”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังให้นโยบาย ก.ล.ต. ในการพัฒนาระบบการเข้าถึงระบบการเงินและตลาดทุน (Financial inclusion) ที่เท่าเทียมกันของประชาชนและธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ให้เป็นกรณีตัวอย่างของประเทศไทยเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (AFMM) ในเดือนเมษายน 2564 และการประชุมเอเปค (APEC) ปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา หรือที่เรียก Digital Disruption นั้นเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม ก.ล.ต. จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ของตลาดทุนไทยตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2562 โดยอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. เรื่อง Digital For Capital Market ที่มุ่งมั่นจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพตลาดทุน ยกระดับการกำกับดูแล และพลิกโฉมตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล โดยระบบ Digital Infrastructure จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในตลาดทุนให้อยู่บนระบบที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม และปรับเปลี่ยนกระบวนการในตลาดทุนให้เป็นดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (end-to-end process) เพื่อช่วยลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ สร้างความสะดวกและลดต้นทุนในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน รวมทั้งกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต. ขอขอบคุณกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ให้กับตลาดทุนไทย

ในการเปิดตัวโครงการครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ให้เกียรติบรรยาย เรื่อง “โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกับการพลิกโฉมตลาดทุนไทย” โดยมีใจความโดยสรุปว่า “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่ทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นทดแทน (technology disruption) มีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเข้าหากัน ซึ่งการนำพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับตลาดทุนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และขอขอบคุณ ก.ล.ต. ที่เป็น disrupter ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุน”

สำหรับการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure จะเริ่มที่ตราสารหนี้ภาคเอกชน และจะเชื่อมต่อระบบไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับตราสารหนี้ภาครัฐต่อไป ซึ่ง ก.ล.ต. จะควบคุมดูแลการพัฒนาและทดสอบระบบทั้งหมดก่อนเริ่มใช้งานจริงภายใต้โครงการ Sandbox ที่มีการจำกัดความเสี่ยงและยืดหยุ่นในเรื่องของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นได้ว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าระบบจะพร้อมสำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นแรกได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564   

ในอนาคต ระบบ Digital Infrastructure จะมีการพัฒนาให้รองรับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดทุน เช่น การออกหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลโดยไม่มีกระดาษและลงนามด้วยลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic signature) การลดระยะเวลาที่หลักทรัพย์จะพร้อมในการซื้อขายในตลาดรองจากเดิมที่ต้องใช้ 7 – 14 วัน ให้เหลือเพียง 1 – 2 วัน และการลดระยะเวลาส่งมอบและชำระราคาหลักทรัพย์จากเดิมอยู่ที่ T + 2 วัน ให้เป็นแบบ real-time (T + 0 วัน)

______________________

คำถาม – คำตอบ เกี่ยวกับระบบ Digital Infrastructure ของตลาดทุนไทย

คำถาม : ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure หรือ DIF) ของตลาดทุนไทย คืออะไร ?

คำตอบ : Digital Infrastructure คือระบบที่เป็นเสมือนโครงข่าย (network) เชื่อมโยงผู้ร่วมตลาดทุกภาคส่วน

เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ร่วมตลาดทำงานด้วยกระบวนการและชุดข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งระบบดังกล่าวจะรองรับกระบวนการธุรกรรมตลาดทุนในรูปแบบดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (end-to-end process) และให้บริการในทุกผลิตภัณฑ์ตลาดทุนตั้งแต่ตราสารหนี้ ตราสารทุน หน่วยลงทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยในระยะแรกจะเริ่มที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนก่อน

คำถาม : ประโยชน์ของระบบ Digital Infrastructure คืออะไร ?

คำตอบ : เนื่องจากปัจจุบันในตลาดทุนมีข้อจำกัดในระดับโครงสร้าง เช่น กระบวนการเป็นดิจิทัลบางส่วน

และไม่เชื่อมโยงตลอดสาย หรือมีการทำงานแบบ manual และใช้เอกสารหลักฐานที่เป็นกระดาษ เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพที่จำกัดและต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ ระบบDigital Infrastructure จึงมุ่งเน้นให้ทุกกระบวนการในตลาดทุนดำเนินการได้อย่างอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการให้บริการ ลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและ
ผู้ลงทุน ตลอดจนช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน รวมทั้งกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

            ตัวอย่างประโยชน์ที่จะได้รับ

กระบวนการในตลาดทุนที่จะพัฒนาภายใต้ระบบ Digital Infrastructure :

• ออกหลักทรัพย์ด้วยกระบวนการทางดิจิทัล 100% ที่ได้มาตรฐานและไม่มีการใช้กระดาษ พร้อมรองรับรูปแบบ machine readable ที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้

• ใช้การลงนามด้วยลายมือชื่อแบบ e-Signature แทนการลงนามบนกระดาษ

ลดระยะเวลาที่หลักทรัพย์จะพร้อมซื้อขายในตลาดรองจากเดิมที่ต้องใช้ 714 วัน ให้เหลือเพียง 12 วัน

ลดระยะเวลาในการส่งมอบและชำระราคาหลักทรัพย์ซึ่งเดิมอยู่ที่ T + 2 วัน ให้เป็นแบบ real-time (T + 0 วัน) ได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ทำธุรกรรมดังกล่าว

            ผู้ลงทุน :

• เปิดบัญชีการลงทุนโดยใช้แบบฟอร์มมาตรฐาน (Single Form) ที่กรอกข้อมูลเพียงครั้งเดียวก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดทุนได้ และขอให้มีการโอนย้ายข้อมูลดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ได้โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ

• ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ลงทุนแบบ e-KYC ผ่านระบบ National Digital ID (NDID)

ทำให้การเปิดบัญชีลงทุนมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 

• เรียกขอข้อมูลภาพรวมการลงทุนหลักทรัพย์ที่ถือครองได้ทั้งหมดในลักษณะพอร์ตโฟลิโอจากทุกบัญชี

ที่ใช้บริการในตลาดทุน (Account Aggregation)

หน่วยงานกำกับดูแล :

• มีการแจ้งเตือนเหตุการณ์ผิดปกติในตลาดทุน ทำให้การตอบสนองและการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที

• มีข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและการพัฒนาธุรกิจตลาดทุน

คำถาม : ผู้เกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบนี้มีใคร และจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ?

คำตอบ : Digital Infrastructure ถูกออกแบบไว้ให้เป็นระบบสถาปัตยกรรมแบบเปิด (Open Architecture)
ที่เชื่อมต่อเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งให้บริการในตลาดทุน (เช่น ผู้ค้าหลักทรัพย์ ผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์ เป็นต้น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมในตลาดทุน
(เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เป็นต้น) เพื่อให้ผู้ออกหลักทรัพย์ที่ต้องการเงินทุนและ
ผู้ลงทุน ได้รับบริการในรูปแบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ การเข้าใช้งานระบบดังกล่าวจะเป็นภาคสมัครใจ โดย ก.ล.ต. จะมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการใช้งานระบบ Digital Infrastructure จากผู้ร่วมตลาดต่อไป

คำถาม : ระบบ Digital Infrastructure จะพร้อมใช้งานจริงเมื่อไร ?

คำตอบ : ปัจจุบันระบบ Digital Infrastructure อยู่ระหว่างพัฒนาภายโครงการ Sandbox ของ ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเบื้องต้นพร้อมทดสอบระบบและออกเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นแรกได้ ภายในปี 2564

คำถาม : โครงการ Sandbox คืออะไร ?

คำตอบ : Sandbox คือ การทดสอบระบบภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัดความเสี่ยง เช่น จำนวนผู้ลงทุน มูลค่าการออกหลักทรัพย์ ระยะเวลาในการทดสอบ หรือ feature ที่สามารถให้บริการได้ เป็นต้น ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

คำถาม : ทำไมต้องมีการทดสอบระบบ Digital Infrastructure ในโครงการ Sandbox ?

คำตอบ : เนื่องจากระบบ Digital Infrastructure เป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สำคัญของประเทศ และมีผู้เกี่ยวข้อง

เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องนำไปทดสอบการใช้งานจริงกับผู้เกี่ยวข้องในโครงการ Sandbox ภายใต้กฎเกณฑ์

ที่ยืดหยุ่นและกรอบของการจำกัดความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบจะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

และมีประสิทธิภาพ โดยโครงการ Sandbox จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

• ช่วง Development : ช่วงพัฒนาระบบงาน ทดสอบ และประเมินคุณภาพก่อนการใช้งานจริง

• ช่วง Production : ช่วงที่มีการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ร่วมกับผู้ออกหลักทรัพย์ (issuer) ผู้ลงทุนในวงจำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่น

คำถาม : ระบบ Digital Infrastructure จะมีการนำเทคโนโลยี blockchain / distributed ledger technology มาใช้หรือไม่ ?

คำตอบ : ก.ล.ต. ร่วมกับผู้พัฒนาและให้บริการระบบ Digital Infrastructure อยู่ระหว่างประเมินความต้องการในการพัฒนาระบบที่ได้รับจากการจัดทำ workshop ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (ซึ่งรวมถึง distributed ledger technology) มาปรับใช้ในแต่ละกระบวนการต่อไป

คำถาม : ระบบ Digital Infrastructure จะรองรับผลิตภัณฑ์ประเภท Digital Asset หรือไม่ ?

คำตอบ : นอกจากจะพัฒนาระบบให้รองรับทุกผลิตภัณฑ์ตลาดทุนตั้งแต่ตราสารหนี้ ตราสารทุน หน่วยลงทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว ก.ล.ต. ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้ครอบคลุมถึง Digital Asset ด้วยในอนาคต แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมและความพร้อมในการเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการธุรกิจดังกล่าว