ปัจจุบันพบว่ามีเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเติบโตเป็นกิจการขนาดใหญ่ แต่ยังขาดแคลนเครื่องมือการระดมทุนในวงกว้างและมีข้อจำกัดที่ทำให้ยังไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันและสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับขนาดของกิจการ ก.ล.ต. จึงได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เปิดช่องทางให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินการระดมทุนจากผู้ลงทุนเป็นวงกว้างและนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดรองได้
เอสเอ็มอีที่ต้องการระดมทุนในวงกว้างและเข้าจดทะเบียนในตลาดรองได้ต้องมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีกลไกคุ้มครองผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย (ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535) โดยจะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองเพื่อให้เหมาะสมกับเอสเอ็มอีและไม่เป็นภาระกับเอสเอ็มอีมากเกินไป เช่น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต ไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมโดยกิจการยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น
(1) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเปิดเผยข้อมูลของกิจการและงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต.*
(2) กำหนดให้มีการจัดส่งงบการเงินครึ่งปีและงบปีที่ผ่านการสอบทานหรือตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต.** และรายงานประจำปี
(3) มีกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของแต่ละสายงานที่ไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ และต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นกรรมการและผู้บริหาร (fiduciary duty)
(4) ขายหุ้นผ่านตัวกลางซึ่งมีหน้าที่ในการทำความรู้จักลูกค้า (KYC) และแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม (Suitability)
สำหรับการลงทุนในหุ้นเอสเอ็มอีทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง จะเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การลงทุนมีประสบการณ์และมีสินทรัพย์สูงในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอี หรือบริษัทในเครือ เป็นต้น เพื่อคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน
ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นเอสเอ็มอีในตลาดรองจะต้องดำเนินการส่งคำสั่งผ่านตัวกลางโดยเป็นระบบการจับคู่คำสั่งซื้อขายแบบ auction วันละ 1 รอบ และผู้ลงทุนจะต้องมีเงินเต็มจำนวนก่อนการซื้อและผู้ขายจะต้องมีหุ้นเพียงพอในบัญชีก่อนขาย (prepaid market) รวมทั้งมีการกำกับดูแลในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับ SET และ mai เป็นต้น
ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th และเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: tayakorn@sec.or.th หรือ wareeya@set.or.th จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564
_______________________________________________________________
หมายเหตุ
* ผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต. หมายถึง ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตใด ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสอบบัญชี จากสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ซึ่งมีสถานภาพเป็นหุ้นส่วนหรือพนักงานของสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต.
** สำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต. หมายถึง สำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจจาก ก.ล.ต. แล้วว่ามีระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามมาตรฐานวิชาชีพและมีจำนวนบุคลากรเพียงพอต่อการให้บริการสอบบัญชีแก่กิจการในตลาดทุน โดยสำนักงานสอบบัญชีดังกล่าวต้องมีผู้สอบบัญชีในตลาดทุนสังกัดอยู่อย่างน้อย 1 ราย ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อของสำนักงานสอบบัญชีดังกล่าวได้ที่ https://market.sec.or.th/public/orap/AUDITOR01.aspx?lang=th