Sign In
การดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล 2563

​​​​​​สำนักงาน ก.ล.ต. มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ดังนี้

สำนักงาน ก.ล.ต. มีแผนการสร้างและพัฒนาผู้บริหารเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในระดับบริหารเพื่อการทดแทนและสร้างความต่อเนื่อง ตลอดจนมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกบุคลากรสำหรับตำแหน่งผู้บริหาร มีการทำแผนพัฒนารายบุคคลตามแผนการสร้างและพัฒนาผู้บริหาร

การพัฒนาบุคลากรของสำนักงาน ก.ล.ต. จะประกอบกันทั้งการพัฒนาความรู้ ศักยภาพ ความสัมพันธ์ รวมไปถึงเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงาน โดยมีแนวทางการพัฒนาพนักงานในด้านหลัก ๆ ดังนี้  

1. การเสริมสร้างแนวคิดเพื่อรองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นและในรูปแบบใหม่และมีทักษะความสามารถในการปรับตัว ได้แก่ การสร้าง Agile Mindset  และวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรแบบคล่องตัวในการบริหารจัดการงาน รวมถึงการสนับสนุนการทำงานในรูปแบบ Work from Home โดยมีเครื่องมือการทำงานแบบออนไลน์

2. การพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล ที่เน้นทักษะใหม่ทั้งด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทักษะความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัล

กลุ่มผู้บริหาร มุ่งเน้นการพัฒนาการเป็นผู้นำในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น หลักสูตร Digital Transformation Leadership ณ ประเทศสิงคโปร์ หลักสูตร Digital Business Management หลักสูตร Digital CEO เป็นต้น

กลุ่มพนักงานทั่วไป มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะด้าน Digital Literacy, ทักษะด้านคิดวิเคราะห์วิพากษ์ (Analytical and Critical Thinking), ทักษะการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Management and Analytics), ทักษะการสื่อสารด้วยภาพและการเล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพ (Visual Communication and Storytelling) และทักษะการป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Awareness)

กลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการประเมินความเสี่ยง  การป้องกันภัยคุกคามทาง Cyber ทักษะการสร้างและพัฒนาระบบงานและแอปพลิเคชัน การพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล ให้คำแนะนำ ตรวจสอบติดตามและประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยการใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานภายใต้กำกับดูแล เป็นต้น

3. การพัฒนาภาวะผู้นำ

กลุ่มผู้บริหารระดับสูง  การพัฒนาผู้บริหารผ่านการเข้าอบรมในหลักสูตรพัฒนาผู้นำและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.),ผู้บริหารระดับสูงด้านพลังงาน (วพน.) , การป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตร ผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (digital CEO), รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.), การสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่รัฐบาลดิจิทัล (DTP), นักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.), นักบริหารระดับสูง : ผู้มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.), ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.), นักกฎหมายภาครัฐ 4.0 และประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.)

กลุ่มผู้บริหารระดับกลางและต้น เน้นพัฒนาความรู้ในเรื่องบทบาท รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะสามารถการนำไปใช้ได้ในการบริหารงานและการบริหารบุคลากร เช่น หลักสูตร 4 Roles of Leadership หลักสูตร HR for non HR  หลักสูตร Emerging Leader หลักสูตร Situational Leadership เป็นต้น

4. การพัฒนาสมรรถนะหลักของพนักงาน (Core Competency)

เน้นการให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศตลาดเงินและตลาดทุน การดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล และภารกิจและหลักการกำกับดูแล ได้แก่ หลักสูตร Regulatory School ที่ ก.ล.ต. ออกแบบและจัดทำขึ้นเอง โดยกำหนดเป็นหลักสูตรต่อเนื่องเน้นกลุ่มพนักงานใหม่และพนักงานระดับต้น โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งจัดทำความรู้ในรูปแบบหลักสูตรออนไลน์ เก็บรวบรวมที่ระบบบริหารจัดการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) ให้พนักงานเข้าเรียนได้ตลอดเวลา

5. การพัฒนาด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน (Functional Competency)

ส่วนงานต่าง ๆ สามารถวางแผนและจัดการพัฒนาพนักงานในสังกัดให้สอดคล้องกับเป้าหมาย แผนงานและสมรรถนะด้าน Functional Skills ของส่วนงาน โดยการบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเองได้ นอกจากนี้สำนักงานสนับสนุนการพัฒนาพนักงานในหลักสูตรการอบรมต่างประเทศรวมถึงหลักสูตร online หลากหลายหลักสูตร เช่น  หลักสูตร APEC Financial Regulators Training Initiative, The Regional Leadership Programme for Securities Regulators, หลักสูตร Risk Management Programme for Asian Financial Regulators, หลักสูตร FinTech Programme for Asian Financial Regulators, การเข้าร่วมงานสัมมนา Singapore FinTech Festival, IOSCO Seminar Training Program ในหลากหลายหัวข้อ เช่น “Regtech/Suptech: Using Technology for Regulatory and Supervisory Responsibilities"/ “Securities trading issues and market infrastructure"/ “The Role of Securities Regulators amidst COVID-19", หลักสูตร Cambridge Executive Education on “FinTech and Regulatory Innovation Course"

6. สนับสนุนการแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและองค์กรต่างประเทศ 

ในช่วงต้นปี 2563 สำนักงานส่งบุคลากร 1 รายไปเข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติงานที่ประเทศญี่ปุ่นในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ Fellowship Program Global Financial Partnership Center (GLOPAC) โดยโครงการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์รับบุคลากรในหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินจากทั่วโลก เพื่อพัฒนาความรู้ด้านตลาดการเงินโลกและนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางและจัดโครงสร้างพื้นฐานในด้านงานกำกับดูแล

สำนักงานส่งพนักงานระดับบริหารระดับต้น 1 ราย ไปฝึกปฏิบัติงาน (secondment) กับ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระยะเวลา 2 ปี และทำความตกลงที่จะจัดส่งพนักงานอีก 1 ราย ไปปฏิบัติงานกับ IOSCO Asia Pacific Hub ประเทศมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

7. หลักสูตรด้านการพัฒนาทีมเพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีในการทำงาน ซึ่งมีทั้งการสร้างทีมในระดับฝ่าย และในภาพรวมระดับสำนักงานด้วย

8. การเพิ่มช่องทางการพัฒนาพนักงานด้วยแพลตฟอร์มเรียนรู้ระดับสากล ที่ผู้บริหารและพนักงานสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีทักษะความรู้ใหม่ ๆ ทันโลก ทันสมัย ตอบสนองได้ตามความต้องการในการเรียนรู้ ผ่าน mobile application และคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้สำ​นักงาน ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างทางก้าวหน้าในสายอาชีพของบุคลากร โดยสนับสนุนให้หัวหน้าสื่อสารกับสมาชิกในทีมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อแนะนำในเชิงพัฒนา ในปี 2563 โอกาสในการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงานของพนักงานคิดเป็นร้อยละ 12 และโอกาสความก้าวหน้าในการเลื่อนระดับและตำแหน่งในสายอาชีพของพนักงาน คิดเป็นร้อยละ 21

การประเมินผลบุคลากร ในปี 2563 สำนักงาน ก.ล.ต. มีระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (performance management system) ในการประเมินการปฏิบัติงานของบุคลากร ให้พนักงานตั้งเป้าหมายและ KPI ของตนเอง เสนอผู้บังคับบัญชา กำหนดเป็น KPI ร่วมกัน เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน ทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานมีความชัดเจนโปร่งใส เชื่อมโยงเป้าหมายการทำงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานที่ได้ถ่ายทอดลงไปสู่ระดับบุคคล ที่จะทำให้ผลงานรายบุคคลมีส่วนสนับสนุนให้องค์กรประสบความสำเร็จ

โดยปี 2563 สำนักงานกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน ครั้งที่ 1 ผลงานช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน  พนักงานและผู้บังคับบัญชากำหนดเป้าหมาย และ KPI ร่วมกัน เดือนมิถุนายน ประเมินผลงานครึ่งปีแรก และให้มีการ Feedback เดือนกรกฎาคมทบทวนเป้าหมายการทำงานครึ่งปีหลัง ครั้งที่ 2 ผลงานช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม เดือนพฤศจิกายน ประเมินผลครึ่งปีหลัง และ Feedback เดือนธันวาคมประเมินผลงานประจำปี 2563 และตัดเกรดคะแนนเพื่อใช้กำหนดอัตราขึ้นเงินเดือนประจำปี

สำนักงาน ก.ล.ต. มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและความผูกพันบุคลากร ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ กิจกรรมการปลูกฝังค่านิยมองค์กร (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) และแนวทางการทำงาน 4 ร. (รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ) กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ ทั้งในมิติของการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมกิจกรรมวันสำคัญของชาติหรือวันสำคัญตามประเพณี (เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสงกรานต์ เป็นต้น)

ในปี 2563 ประเทศไทยรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)  สำนักงาน ก.ล.ต. จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work from Home ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงมีการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านรายการ HR ชวนคุย เพื่อแสดงความห่วงใยให้คำแนะนำต่าง ๆ ในการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ On line เช่น กิจกรรมคุยกับผู้บริหารระดับสูง  กิจกรรมสงกรานต์ online หรือ กิจกรรมเชิญวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ทาง On line  เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่และเตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ โดยจัดให้มีโปรแกรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ เพื่อให้มีความเข้าใจในวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งเรียนรู้ค่านิยมในการทำงาน เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างรวดเร็ว ในด้านการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน สำนักงานได้จัดให้มี “โครงการอบรมและพัฒนาพนักงานใหม่" เพื่อเตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ในการทำงานทั้งในมิติขององค์ความรู้ตลาดทุน โดยช่องทางการเรียนรู้มีทั้งแบบออนไลน์ และในชั้นเรียนและมิติด้านค่านิยมวัฒนธรรมองค์กร ผ่านกิจกรรม SEC Family  โดยในปี 2563 ได้จัดกิจกรรม จำนวน  3 รุ่น รุ่นละประมาณ 30 – 40 คน เพื่อให้พนักงานใหม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงาน (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) และแนวทางการทำงานแบบ 4 ร (รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ) และเปิดประสบการณ์การทำงานจากพนักงานรุ่นพี่ นอกจากนี้  ยังมีหัวหน้างานทำหน้าที่สอนงาน (Coaching) และเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดระยะเวลาการทำงานและเพื่อสร้างความสมดุลในชีวิตและการทำงาน สำนักงานยังได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานซึ่งกิจกรรมของสำนักงานมีความหลากหลาย ทั้งกิจกรรมสัมพันธ์ประเภทกีฬา และสันทนาการ ชมรมต่าง ๆ ห้องออกกำลังกาย และกิจกรรม CSR เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้การทำประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวม

นอกจาก​นี้ในปี 2563 สำนักงาน ก.ล.ต. สนับสนุนให้พนักงานร่วมกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม โดยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม และดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน เพื่อปลูกฝังพนักงานให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม ร่วมช่วยเหลือดูแลสังคมและชุมชน ปลูกผังพนักงานให้มีจิตอาสา มีความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยเหลือชุมชนให้มีความอยู่ดีกินดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเลี้ยงตนเอง เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้ศึกษาวิถีชุมชน สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี หวงแหนในความเป็นชาติไทย และช่วยกันดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหารและพนักงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ​กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

​​​สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดทำโครงการ SEC Green Mind สิ่งแวดล้อมโลก สิ่งแวดล้อมเรา โดยมีแนวคิด “ลด" ขยะและการใช้พลังงาน “เพิ่ม" พื้นที่สีเขียว ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้พนักงานตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อความยั่งยืน โดยตลอดปี 2563 ได้ดำเนินการดังนี้

1.1  บริหารจัดการขยะภายในสำนักงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณขยะทั่วไป โดยการรีไซเคิล  การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

1.1.1 นำขยะเศษอ​าหารไปเข้าเครื่องย่อยเพื่อทำเป็นปุ๋ย โดยสำนักงานสามารถผลิตปุ๋ยได้ 2,365 กิโลกรัม และได้มอบปุ๋ยให้เขตจตุจักรจำนวน 200 กิโลกรัม เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาต้นไม้เพื่อช่วยในการเพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศและลดการเกิดก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ รวมถึง ได้แจกจ่ายปุ๋ยที่ผลิตได้ให้แก่พนักงานและผู้มาติดต่อสำนักงานที่มีความประสงค์จะนำไปใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาต้นไม้ภายในที่พักอาศัย

1.1.2 นำขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ส่งให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน

1.1.3 นำขยะพลาสติก กล่องโฟม และวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ส่งให้บริษัทที่นำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง

1.1.4 นำกระดาษใช้แล้วไปแลกเป็นกระดาษใหม่ในโครงการ SCG Paper X

1.1.5 นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งไปกำจัดตามมาตรฐานที่ถูกต้องในโครงการ E-waste กับ AIS

1.1.6 นำปฏิทินเก่า กล่องนม กล่องพัสดุที่ทิ้งแล้ว ฯลฯ ไปบริจาคตามโครงการต่าง ๆ    



 

​ณ สิ้นปี 2563 สำนักงา​นมีขยะทั่วไปที่นำไปฝังกลบเพียงร้อยละ 34 จากปริมาณขยะทั้งหมด สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 42,524..57 กิโลกรัมคาร์บอน โดยปริมาณขยะทั่วไปดังกล่าวลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 75


 

1.2  โคร​งการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย

สำนักงานเข้าร่วมโครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย ของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 และได้ดำเนินการปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำเสียของอาคารสำนักงานให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดำเนินการประหยัดน้ำ เช่น การรณรงค์ให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนก็อกกน้ำที่เสียเป็นก็อกอัตโนมัติ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานได้ออกนโยบายการจัดการน้ำเสียและการประหยัดน้ำของสำนักงาน ซึ่งในปี 2563 สำนักงานได้รางวัลระดับทอง

1.3 การขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ

สำนักงานได้ขึ้นทะเ​บียนเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558  โดยได้ชดเชยคาร์บอนเครดิตที่ปลดปล่อยในแต่ละปีให้เป็นศูนย์  สำหรับปี 2563 สำนักงานได้ดำเนินการชดเชยคาร์บอนเครดิตที่ได้ปล่อยในรอบปี 2562 โดยได้สนับสนุนโครงการของชุมชน ได้แก่ โครงการผลิตสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์เทศบาลเมืองยโสธร จำนวน 2,507 ตันคาร์บอน เป็นเงิน 501,400 บาท

1.4 โครงก​ารปลูกผักลอยฟ้า  เป็นการจัดกิจกรรมแข่งขันปลูกผักลอยฟ้าในอาคารสำนักงาน เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานได้มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสารพิษ วิธีการดูแลบำรุงรักษา ตลอดจนถึงการเก็บผลผลิต และนำมาแบ่งปันให้กับเพื่อนพนักงานได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน   



1.5 จัดศึกษาดูงานสวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้ในเรื่องของการปรุงดิน การตรวจคุณภาพดิน เทคนิคการปลูกพืช การดูแลบำรุงรักษา การกำจัดศัตรูพืช การทำปุ๋ยหมัก การเก็บผลผลิต ณ สวนทุ่งดินดำ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในที่พักอาศัย


 

2. ​กิจกรรมเพื่อร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม ในปีที่ผ่านได้มีการดำเนินการหลายกิจกรรมดังนี้

2.1 กิจกรรมบริจาคโลหิต สำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีกิจกรรมบริจาคโลหิต ณ สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ที่ต้องการโลหิตในการรักษา ในวาระวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี



2.2 ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา  (COVID-19) โดยมอบผ่านวัดเสมียนนารี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแจกจ่ายข้าวสาร อาหารแห้งให้แก่ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิท-19 นอกจากนี้ยังมีการบริจาคอาหารกล่องและน้ำดื่มจำนวน 300 ชุด ให้แก่สำนักสำนักงานจตุจักรเพื่อมอบให้กับประชาชนในเขตจตุจักรที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา  (COVID-19)



2.3 มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์

สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชน จึงได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมจำนวน 12 คน ของโรงเรียนเสนา   “เสนาประสิทธิ์" อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา จำนวน 60,000 บาท เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว


2.4  ศึกษาดูงานธนาคารความดี และกิจกรรมปลูกข้าวดำนา (ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ)

​สำนักงา​น ก.ล.ต. ได้​จัดให้ผู้บริหารและพนักงานศึกษาดูงาน ธนาคารความดี ณ ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลหนองสาหร่าย จ. กาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจในการดึงศักยภาพความเป็นผู้นำในตนเองมาร่วมดูแลชุมชน โดยการเยี่ยมชมและฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสร้างชุมชนต้นแบบของชาวบ้านที่ช่วยกันแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของชุมชน การดูแลและยกระดับความสุขของชุมชนในมิติต่าง ๆ ที่ดึงชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตของสมาชิกทุกครัวเรือน  นอกจากนี้ พนักงาน ก.ล.ต. ได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในการปลูกข้าวดำนา และเก็บเกี่ยวข้าวเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่า และเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมเชิงเกษตรในการทำนาอย่างแท้จริง โดยร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านในชุมชน



2.5  ร่วมกับชาวบ้านชุมชนไทรน้อย อยุธยา ปรับภูมิทัศน์และปลูกต้นไม้ ณ บริเวณวัดมหาอุตม์ จังหวัดอยุธยาเพื่อให้บริเวณวัดมหาอุตม์พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน โดยร่วมกันปลูกต้นมะตาด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นของชาวมอญที่อาศัยในชุมชนไทรน้อย ต้นทองอุไร และต้นจำปา รวม 400 ต้น บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่


2.6   ร่วมกับชาวบ้านชุมชนบ้านสวนขวัญในการทำกระถางเพาะกล้าจากผักตบชวา ทำแปลงผัก ณ บ้านสวนขวัญ จ. ลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรที่กำลังได้รับความสนใจ


2.7  สนับสนุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิมนุษยชน และนโยบายในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเป็นการช่วยลดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยได้จัดตั้งร้านกาแฟ Café Amazon for Chance ในรูปแบบเพื่อสังคม ในที่ทำการของสำนักงาน เพื่อให้บริการแก่พนักงานและผู้มาติดต่อ ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการทางการได้ยินและออทิสติกที่ได้รับการฝึกอาชีพเป็นบาริสต้า จัดให้ผู้พิการทางสายตาและอดีตผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษแล้วและได้รับการฝึกสอนด้านการนวดดัดจัดสรีระและสมัครใจมาประกอบอาชีพกับบ้านกึ่งวิถี SHE (Social Health Enterprise) มาให้บริการผู้บริหารและพนักงานเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)  โดยได้มีการดำเนินการตลอดปี 2563 นอกจากนี้ สำนักงานยังมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ (กระเป๋าผ้าขาวม้า) จากศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ปากเกร็ด นนทบุรี เพื่อจัดทำเป็นชุดต้อนรับพนักงานใหม่และนักศึกษาฝึกงาน 

 

 

การบริ​​หารทรัพย​ากรบุคคลของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดให้มีสัดส่วนพนักงานในสายงานหลักอยู่ 87.18% และสายงานสนับสนุน 12.82% โดยจำแนกในแต่ละกลุ่มงานต่าง ๆ ดังนี้


​สายงาน

ร้อยละ

จำนวน (คน)

​ระดมทุนและบัญชี

22.93​​

​1​61

​ผู้ประกอบธุรกิจ

​22.93​

​160

​กฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย

19.66​

138

​สื่อสารและนโยบาย

​12.82

​90

​เทคโนโลยีดิจิทัลฯ

8.97

​63

​รวมสายงานหลัก

​87.18

612

​สายงานสนับสนุน

​12.82

​90​​

Gra​nd Total

​100.00​

​702



สำหรับอัตราการลาออกของพนักงานในปี 2563 อยู่ที่ 3.4%  และในปี 2663 มีพนักงานพ้นจากงานเนื่องจากเกษียณอายุจำนวน 10 คน

ในการสรรหาบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน ปัจจุบันสำนักงานกำลังเร่งสรรหากลุ่มบุคลากรในสายงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานด้านการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล งานด้านกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit)  และงานด้านการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน และมีการแข่งขันสูง ดังนั้น  สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีการเตรียมความพร้อมสำหรับกำลังคนในกลุ่มงานดังกล่าวในอนาคต เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานและบุคคลภายนอก การรับนักศึกษาฝึกงานทั้งแบบสหกิจและในช่วงปิดภาคการศึกษา การเดินสายไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แนะนำองค์กรและให้ความรู้ด้านตลาดทุนแก่นิสิตนักศึกษา เป็นต้น รวมทั้งการจูงใจให้บุคลากรในกลุ่มงานดังกล่าวเข้าปฏิบัติงานกับสำนักงาน โดยการแจ้งรูปแบบพิเศษที่เรียกว่า พนักงานสัญญาจ้าง ซึ่งทำให้สามารถสรรหาบุคลกรที่มีความรู้ความสามารถเข้าปฏิบัติงานได้เร็วขึ้น  อย่างไรก็ตาม  สำนักงานยังมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถและเตรียมความพร้อมบุคลากรภายในให้สามารถปฏิบัติงานในทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในด้าน​ผลตอบแทนรวมของพนักงาน สำนักงาน ก.ล.ต. มีนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานคำนึงถึงความเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความเป็นธรรม รวมถึงผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน ประกอบด้วย (1) เงินเดือนพื้นฐานที่จ่ายให้พนักงานตามระดับตำแหน่ง รวมถึงประสบการณ์และความซับซ้อนของงาน และสภาวะตลาดแรงงานในประเทศ โดยยึดหลักความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร (2) ค่าตอบแทนลักษณะอื่น ๆ ที่จ่ายให้ตามลักษณะงาน เช่น เงินค่าวิชาชีพ เงินรางวัลประจำปี (3) สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอื่น ได้แก่ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือนพนักงาน ค่ารักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร) ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารถประจำตำแหน่ง ค่าการสื่อสาร เป็นต้น

ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ สำนักงานได้กำหนดมาตรการโดยให้ความร่วมมือกับนโยบายและประกาศของรัฐบาล จึงออกมาตรการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา  (COVID-19) โดยให้พนักงานปฏิบัติงานจากบ้าน (work from home) เพื่อลดการเดินทาง นอกจากนี้ยังกำหนดเวลาทำงานให้พนักงานเข้าทำงานเหลื่อมเวลา สลับกันพักรับประทานอาหาร เพื่อลดการแออัด รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (social distancing)  รวมถึงมีการสนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตให้แก่พนักงานและลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติงานจากบ้าน และระหว่างที่ปฏิบัติจากบ้านสนับสนุนให้พนักงานมีการสื่อสารระหว่างกันในฝ่ายงาน โดยมีการจัดกิจกรรมสื่อสารกันทาง on-line โดยใช้โปรแกรม Microsoft Teams


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

โทรศัพท์ 0-2263-6441​