Sign In
การดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล 2564

​​​​​รายงานผลการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคลประจำปี 2564

ในปี 2564 สำนักงาน ก.ล.ต. มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยมีแผนการสร้างและพัฒนาผู้บริหารเพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในระดับบริหารเพื่อการทดแทนและสร้างความต่อเนื่อง มีการทำแผนพัฒนารายบุคคลตามแผนการสร้างและพัฒนาผู้บริหาร รวมทั้งมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทันสมัย เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของโลก ซึ่งองค์กรต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้

โดยที่สำนักงานมีบทบาทหน้าที่กำกับดูแล มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามพันธกิจและวิสัยทัศน์ ให้ความสำคัญและยึดมั่นวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานด้วยความซื่อตรงโปร่งใส มีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณที่พนักงานต้องยึดถือประพฤติปฏิบัติตน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ทั้งในเรื่องการมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงสนับสนุนให้มีการแจ้งเบาะแสเพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ การป้องกันมิให้เกิดข้อครหาอันจะกระทบกับความน่าเชื่อในการปฏิบัติหน้าที่  โดยในปี 2564 สำนักงานได้ออกประมวลจริยธรรมสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งใช้บังคับกับพนักงาน พนักงานสัญญาจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตน และรักษาคุณงามความดีที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน ก.ล.ต. ต้องยึดถือในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 โดยมีหลักสำคัญ 7 ประการ ได้แก่

  1. ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

  2. ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

  3. กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

  4. คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

  5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน

  6. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติ

  7. ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร

1. การพัฒนาบุคลากร

สำนักงานสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถในการทำงานของพนักงาน ครอบคลุมความรู้ ทักษะ พฤติกรรมที่จำเป็น เพื่อรองรับเป้าหมายและทิศทางการทำงานขององค์กร โดยในปี 2564 สำนักงานได้มีแนวทางและรูปแบบการพัฒนาพนักงาน ดังนี้

1) การเสริมสร้างแนวคิดเพื่อรองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นและในรูปแบบใหม่และมีทักษะความสามารถในการปรับตัว

- การสร้าง Agile Mindset และวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรแบบ Agile

- สนับสนุนการทำงานในรูปแบบ Work from Home โดยมีเครื่องมือการทำงานแบบออนไลน์

- สนับสนุนการเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ทักษะและความรู้สำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต ผ่านการจัดบรรยายพิเศษในรูปแบบ Virtual Class ในทุกวันศุกร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร ในวงการการเงินและตลาดทุน และอื่น ๆ หมุนเวียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

2) การพั​ฒนาเพื่อยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของพนักงาน โดยการกำหนดหลักสูตรและการพัฒนา Digital Capability ให้เหมาะสมกับระดับความจำเป็นในการพัฒนาผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่

2.1 กลุ่มผู้บริหาร มุ่งเน้นการพัฒนาการเป็นผู้นำในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น หลักสูตร Digital Transformation Leadership  หลักสูตร Digital Business Management หลักสูตร Digital CEO เป็นต้น

2.2 กลุ่มพนักงานทั่วไป มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะด้าน Digital Literacy, ทักษะด้านคิดวิเคราะห์วิพากษ์ (Analytical and Critical Thinking), ทักษะการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Management and Analytics), ทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือ (Collaborative Communication ) และทักษะการป้องกันภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Awareness)

2.3 กลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการประเมินความเสี่ยง  การป้องกันภัยคุกคามทาง Cyber ทักษะการสร้างและพัฒนาระบบงานและแอปพลิเคชัน การพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล ให้คำแนะนำ ตรวจสอบติดตามและประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยการใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานภายใต้กำกับดูแล เป็นต้น

3) การพัฒนาภาวะผู้นำ

เน้นบทบาทของผู้บริหารที่ตอบรับแนวทางการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน โดยในปี 2564 ได้เน้นการสร้างความเข้าใจบทบาทผู้บริหารในการเป็นผู้สนับสนุนและให้โอกาส หลักการ Agile Management ทักษะการสอนงาน (Coaching) ทักษะการให้และรับ feedback นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผู้บริหารทุกระดับเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำกับหน่วยงานภายนอก เพื่อขยายมุมมองด้านการบริหาร และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน

4) การพัฒนาความรู้ด้านตลาดทุน

สำนักงานได้กำหนดแนวทางการพัฒนาความรู้ด้านตลาดทุนให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่กลุ่มพนักงานใหม่และพนักงานระดับต้น ที่เน้นความเข้าใจในภาพกว้างเกี่ยวกับระบบนิเวศตลาดเงินและตลาดทุน การดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล และภารกิจและหลักการกำกับดูแล ได้แก่ หลักสูตร Regulatory School ที่ ก.ล.ต. ออกแบบและจัดทำขึ้นเอง  จนถึงหลักสูตรความรู้ตลาดทุนที่เป็นทักษะการทำงานเชิงลึก เช่น ทักษะด้านการตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2564 สำนักงานได้เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน และความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

5) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและองค์กรต่างประเทศ สำนักงานส่งพนักงานระดับบริหารระดับต้น 1 ราย ไปฝึกปฏิบัติงาน (secondment) กับ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระยะเวลา 3 ปี

6) การเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ด้วย Online Learning Platform ระดับสากล นอกเหนือจากหลักสูตรออนไลน์ความรู้ด้านตลาดทุน ที่สำนักงานจัดเตรียมไว้ให้ในระบบบริหารจัดการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS)  สำนักงานยังได้จัดหา Online Learning Platform ระดับสากล เพื่อช่วยพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ ๆ ทันโลก ทันสมัย สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบโจทย์การพัฒนาพนักงาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่ต้องมีการ Work from Home ตลอด 1 ปี โดยสำนักงานได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของพนักงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในปี 2564 ยังเป็นปีที่สำนักงานเริ่มต้นโครงการพัฒนาพนักงานตามสายอาชีพ (Career Development Program)  โดยกำหนดเส้นทางอาชีพให้พนักงานเห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้พนักงานได้เห็นโอกาสความก้าวหน้าในองค์กร และสามารถกำหนดเป้าหมายและเตรียมความพร้อม โดยการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาและสำนักงาน

2. การประเมินผลบุคลากร

สำนักงาน ก.ล.ต. มุ่งเน้นให้ผู้บริหารและพนักงานมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเป้าหมายและแผนกลยุทธ์ โดยจัดให้มีการสื่อสารวิสัยทัศน์ และเป้าหมายการทำงานปี 2564 ตามแผนกลยุทธ์จากผู้บริหารระดับสูง ถ่ายทอดสู่พนักงานและกำหนดให้มีการตั้งเป้าหมายการทำงานและมีการกำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลงานประจำปี 2564 ตั้งแต่ต้นปี  โดยให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานกลางปี เพื่อให้ Feedback ในการปรับปรุงพัฒนางาน

3. การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากร 

สำนักงาน ก.ล.ต. มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและความผูกพันบุคลากรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และส่งเสริมให้พนักงานมีความรับผิดชอบและช่วยดูแลสังคม พัฒนาชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ กิจกรรมการปลูกฝังค่านิยมองค์กร (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) และแนวทางการทำงาน 4 ร. (รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ)  กิจกรรมวันสำคัญของชาติหรือวันสำคัญตามประเพณี (เช่น วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสงกรานต์ เป็นต้น) กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ประเทศไทยรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID -19)  อย่างต่อเนื่อง สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงมีการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงความห่วงใย ให้คำแนะนำต่าง ๆ ในการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ในรูปแบบ Online เช่น  กิจกรรมสงกรานต์ online  กิจกรรมปังปุริเย  กิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายในขณะ Work From Home  (เช่น Fit@home  และ Fit@home challenge  เป็นต้น)  หรือกิจกรรมของชมรมกีฬา (เช่น ชรมรมฟุตบอล  ชมรม E- sport  ชมรมจักรยาน ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ) และชมรมสันทนาการต่างๆ  (เช่น ชมรมถ่ายภาพ ชมรมศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นต้น) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

4. จำนวนบุคลากรทั้งหมดและจำนวนบุคลากรตามแต่ละสายงานหลัก

การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดให้มีสัดส่วนพนักงานในสายงานหลักอยู่ 86% และสายงานบริหารองค์กร 14% โดยจำแนกในแต่ละกลุ่มงานต่าง ๆ ดังนี้

สายงาน​

ร้อยละ

จำนวน (คน)

ระดมทุนและบัญชี

22

156

ผู้ประกอบธุรกิจ

22

153

กฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย

22

154

สื่อสารและนโยบาย

10

70

เทคโนโลยีดิจิทัลฯ

10

69

รวมสายงานหลัก

86

602

สายงานบริหารองค์กร

14

96

Grand Total

100.00

698

 

5. ความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน และการกระจายแรงงานในหน่วยงานที่สำคัญ

ปี 2564 มีพนักงานใหม่เริ่มงานรวม 86 ราย สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่และเตรียมความพร้อมพนักงานใหม่ โดย จัดให้มีโปรแกรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ออนไลน์ผ่านกิจกรรม SEC Family  โดยในปี 2564 จำนวน  3 รุ่น รุ่นละประมาณ 24-30 คน เพื่อให้พนักงานใหม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงาน (เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง) และแนวทางการทำงานแบบ 4 ร (รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ) นอกจากนี้  ยังมีหัวหน้างานทำหน้าที่สอนงาน (Coaching) และเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดระยะเวลาการทำงาน มีหลักสูตรอบรมความรู้พื้นฐานผ่านออนไลน์ทั้งภาคบังคับ (academy.sec.or.th) และภาคสมัครใจ(LinkedIn Learning และ Skillane) และยังได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานของ ก.ล.ต. ได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานซึ่งกิจกรรมของสำนักงานมีความหลากหลาย ทั้งกิจกรรมสัมพันธ์ออกกำลังกาย และสันทนาการออนไลน์ด้วย

ในการสรรหาบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน ปัจจุบันสำนักงานกำลังเร่งสรรหากลุ่มบุคลากรในสายงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานด้านการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล และงานด้านการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน และมีการแข่งขันสูง ดังนั้น  สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีการเตรียมความพร้อมสำหรับกำลังคนในกลุ่มงานดังกล่าวในอนาคต เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานและบุคคลภายนอก การรับนักศึกษาฝึกงานทั้งแบบสหกิจและในช่วงปิดภาคการศึกษา การเดินสายไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แนะนำองค์กรและให้ความรู้ด้านตลาดทุนแก่นิสิตนักศึกษา เป็นต้น รวมทั้งการจูงใจให้บุคลากรในกลุ่มงานดังกล่าวเข้าปฏิบัติงานกับสำนักงาน โดยการแจ้งรูปแบบพิเศษที่เรียกว่า พนักงานสัญญาจ้าง ซึ่งทำให้สามารถสรรหาบุคลกรที่มีความรู้ความสามารถเข้าปฏิบัติงานได้เร็วขึ้น  อย่างไรก็ตาม  สำนักงานยังมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถและเตรียมความพร้อมบุคลากรภายในให้สามารถปฏิบัติงานในทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับอัตราการลาออกของพนักงานในปี 2564 อยู่ที่ 10%  และในปี 2564 มีพนักงานพ้นจากงานเนื่องจากเกษียณอายุจำนวน 8 คน

6. ผลตอบแทนรวมของพนักงานและอธิบายลักษณะของผลตอบแทน เช่น เงินเดือน โบนัส เงินสมทบ

ในด้านผลตอบแทนรวมของพนักงาน สำนักงาน ก.ล.ต. มีนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานคำนึงถึงความเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความเป็นธรรม รวมถึงผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน ประกอบด้วย (1) เงินเดือนพื้นฐานที่จ่ายให้พนักงานตามระดับตำแหน่ง รวมถึงประสบการณ์และความซับซ้อนของงาน และสภาวะตลาดแรงงานในประเทศ โดยยึดหลักความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร (2) ค่าตอบแทนลักษณะอื่น ๆ ที่จ่ายให้ตามลักษณะงาน เช่น เงินค่าวิชาชีพ เงินรางวัลประจำปี (3) สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอื่น ได้แก่ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือนพนักงาน ค่ารักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร) ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารถประจำตำแหน่ง ค่าการสื่อสาร เป็นต้น

7. การบริหารจัดการบุคลากรภายใต้สถานการณ์โควิด-19

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดมาตรการเพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยของพนักงานและลูกจ้าง ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน สำนักงานจึงได้กำหนดนโยบายการให้พนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) ผลัดสลับหมุนเวียนกันเข้าปฏิบัติงาน ให้เข้าปฏิบัติงานในสำนักงานในกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีงานเร่งด่วนเท่านั้น

กรณีที่พนักงานมีความจำเป็นต้องเข้าปฏิบัติงานที่สำนักงาน มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยและชีวอนามัยให้แก่พนักงาน เช่น เจลล้างมือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสะอาดของสถานที่ทำงานและพื้นที่ส่วนกลาง ให้พนักงานทานอาหารกลางวันเหลื่อมเวลากัน เพื่อลดความหนาแน่นของการรับประทานอาหารกลางวัน และจัดให้มีฉากกั้นพลาสติกเป็นสัดส่วน  พนักงาน ลูกจ้าง และบุคคลภายนอก ให้มีการคัดกรองก่อนเข้าอาคารสำนักงาน ตรวจวัดอุณหภูมิ แสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีผลการตรวจไม่เกิน 7 วัน นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้ดำเนินการขอจัดสรรบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 1 และ 2 เป็นกลุ่มจากหน่วยงานภาครัฐ ให้กับบุคลากร ตามความสมัครใจ รวมถึงวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นจากหน่วยงานที่ให้บริการ

8. การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

1) การจัดการความยั่งยืนในมิติธรรมาภิบาล

การเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA)

ด้านการบริหาร​บุคคล ในการประเมิน ITA สำนักงาน ก.ล.ต. มีการเผยแพร่ข้อมูลบนเวปไซด์ของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของผู้บริหารสูงสุดที่ใช้บังคับในปี 2564 ที่มีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ เพื่อก่อให้เกิดการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีความโปร่งใสและมีคุณธรรม  เป็นการดำเนินการที่มีความสอดรับกับนโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล หลักเกณฑ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ยังใช้บังคับปี 2564 ประกอบด้วย การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การบรรจุและแต่งตั้งบุคลากร การพัฒนาบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงานบุคลากร การให้คุณให้โทษและการสร้างขวัญกำลังใจ มีแนวปฏิบัติการจัดการ เรื่องร้องเรียนการทุจริต คู่มือหรือแนวทางการดำเนินการต่อเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน มีข้อมูลรายละเอียดของการปฏิบัติงาน วิธีการที่บุคคลภายนอกจะทำการร้องเรียน ขั้นตอนหรือวิธีการในการจัดการต่อเรื่องร้องเรียน ส่วนงานที่รับผิดชอบ ระยะเวลาดำเนินการ เป็นต้น ผ่านทางช่องทางออนไลน์ มีการแสดงข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน  นอกจากนี้ ยังเผยแพร่เจตจำนงสุจริตของผู้บริหารสูงสุด ได้แก่ เลขาธิการ ว่าจะปฏิบัติหน้าที่และบริหารหน่วยงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานมีทัศนคติ ค่านิยมในการปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตอย่างชัดเจน

การประเมิน NACC การสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อกระบวนการทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต.

การประเมิน NACC ด้านบุค​​ลากร สำนักงาน ก.ล.ต.มีการดำเนินการดังนี้

1. มีขั้นตอนการวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนของหน่วยงานที่เหมาะสมกับปริมาณงานของงาน Help Center ที่เป็นศูนย์บริการประชาชน

2. มีการพิจารณาให้เงินรางวัลประจำปีโดยเป็นการพิจารณาตอบแทน/ให้รางวัลพิเศษกับพนักงานที่มีผลงานที่โดดเด่น ดีเด่น ปริมาณงานมาก และเป็นที่ประจักษ์

3. มีการมอบเกียรติบัตรให้พนักงานดีเด่นประจำเดือน

4. มีการจัดอบรมให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงาน

5. มีการประเมินความพึงพอใจในการให้บริการของเจ้าหน้าที่

6. มีการประเมินความพึงพอใจในการให้บริการผ่านช่องทางโทรศัพท์และ live

7. มีเกณฑ์การพิจารณามาตรฐานเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน

2) การจัดการความยั่งยืนในมิติสังคม

ข้อมูลผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการด้านสังคม เช่น

1. ​การใ​ห้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ/สิทธิสตรี

ในการบริหารจัดการบุคลากร สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับหลักความเสมอภาคและยุติธรรม พนักงานมีโอกาสเติบโตตามความสามารถอย่างเท่าเทียมกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติ มีการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ รวมถึงมีความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศ ไม่ปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ โดยสำนักงานมีการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาค ป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเกิดขึ้นภายในองค์กร ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงาน อีกทั้งมีมาตรการป้องกันและจัดการอย่างทันท่วงทีหากมีปัญหาเกิดขึ้นภายในองค์กร

2. PVD แบบ li​​fe path Compensation

สำนักงาน ก.ล.ต. สนับสนุนให้พนักงานมีการออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และดำเนินการจัดหาทางเลือกการลงทุนให้กับพนักงาน เช่น นโยบายการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (life path) รวมถึงนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินและหลักทรัพย์เพื่อให้เป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่พนักงานยอมรับได้โดยได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว รวมถึงได้มีการเพิ่มสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างด้วย

3. การใ​​ห้ความสำคัญกับ work from home ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ตลอดปี 2564 สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดมาตรการให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน Work From Home ทั้งหมด 14 ฉบับ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับสูง สำนักงานให้พนักงานและลูกจ้างทั้งหมดปฏิบัติงานที่บ้านทั้งหมด ยกเว้นงานที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเท่านั้น และให้พนักงานและลูกจ้างปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของทางราชการอย่างเคร่งครัด  พนักงาน ลูกจ้างที่ Work From Home สำนักงานยังจัดการระบบงาน การปฏิบัติงาน การสื่อสาร โดยวิธีทางออนไลน์เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เช่น การรับส่งเอกสารออนไลน์ การจัดประชุมผ่านสื่อทางไกล การรับหนังสือภายนอกผ่านอิเล็กทรอนิกส์ การลงนามในหนังสือออกทางอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมผ่านสื่อออนไลน์เพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในช่วงที่สำนักงานให้ปฏิบัติงานที่บ้านมีการสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และค่าอินเตอร์เน็ตให้แก่พนักงานและลูกจ้างมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 นอกจากนี้ ในการจัดการความเครียดในช่วงการระบาดของโควิด-19 และ Work From Home ให้ความช่วยเหลือพนักงานในการรับมือรับมือกับความเครียด โดยสำนักงานได้จัดให้มีบริการเพื่อดูแลสุขภาพในให้แก่พนักงานและลูกจ้างได้พูดคุยและรับคำปรึกษาจากนักจิตวิยาและจิตแพทย์ทางออนไลน์และโทรศัพท์

4. การมีส่วนร่วมพัฒ​​นาชุมชนและสังคม

สำนักงาน ก.ล.ต. ปลูกฝังและส่งเสริมให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ กิจกรรมเพื่อร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม ในปี 2564 ที่ผ่าน ได้มีการดำเนินการหลายกิจกรรมดังนี้

4.1 ​​​มอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การการเรียนการสอน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กีฬา  เครื่องใช้ในสำนักงานประจำปี 2564 ให้แก่โรงเรียนวัดไชโย (เพิ่ม  เกษมสุวรรณ 4)  ตำบลไชโย  อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง  เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว  รวมทั้งสนับสนุนโรงเรียนวัดไชโยในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน



   

4.2 จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอยู่สืบไป โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่ออัญเชิญไปถวายพระสงฆ์ ณ วัดไชโยวรวิหาร ตำบลไชโย  อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง  เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564





4.3 สนับสนุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเป็นการช่วยลดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยสำนักงานได้จัดให้มีบริการนวดเพื่อผ่อนคลายอาการออฟฟิศซินโดรมให้แก่พนักงานสัปดาห์ละ 4 วัน โดยได้ว่าจ้างผู้พิการทางสายตามาให้บริการนวดผ่อนคลายและว่าจ้างอดีตผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษแล้วและได้รับการฝึกสอนด้านการนวดดัดจัดสรีระและสมัครใจมาประกอบอาชีพกับบ้านกึ่งวิถี SHE (Social Health Enterprise) มาให้บริการผู้บริหารและพนักงานเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)  นอกจากนี้ สำนักงานยังมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ (กระเป๋าผ้าขาวม้า) จากศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ปากเกร็ด นนทบุรี เพื่อจัดทำเป็นชุดต้อนรับพนักงานใหม่และนักศึกษาฝึกงาน 

 

 ​

9. ปัญหา อุปสรรค ของการดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล ปี 2564

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ต่อเนื่องจากปี 2563 ถึงปี 2564 ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือรูปแบบการทำงาน การพัฒนาบุคลากร การสื่อสารและกิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ hybrid working เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  มีการกำหนดมาตรการให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from Home) ทั้งหมด 14 ฉบับ และการดำเนินการด้านทรัพยากรบุคคล ได้ปรับรูปแบบเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น เช่น  การคัดเลือกพนักงานใหม่ ใช้การสัมภาษณ์และการทำแบบทดสอบทางออนไลน์ เมื่อผ่านเข้าเป็นพนักงานแล้ว ได้จัดมีโปรแกรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ออนไลน์ผ่านกิจกรรม SEC Family เพื่อเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานใหม่ ด้านพัฒนาบุคลากร นอกจากหลักสูตรอบรมที่สำนักงานจัดในรูปแบบออนไลน์แล้ว ยังจัดให้มี Online Learning Platform ทั้งของไทยและระดับสากล เป็นการสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบ anytime anywhere ด้านกิจกรรมสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมในเทศกาลสำคัญ เช่น กิจกรรมสงกรานต์ online  กิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายผ่านระบบออนไลน์ กิจกรรมพี่น้องล้อมวงคุย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะที่ดีของพนักงาน โดยเฉพาะในการรับมือกับความเครียดจากการทำงานและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการจัดให้มีแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาแบบออนไลน์กับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม