Sign In
เจอแบบนี้ต้องระวัง "แชร์ลูกโซ่" หลอกลงทุน

อย่าเพิ่งหลงเชื่อ หากถูกชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างว่า จะเทรดหุ้นให้ หรือลงทุนคริปโทให้ เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็น “แชร์ลูกโซ่

มิจฉาชีพมักโฆษณาชักชวนลงทุนในหุ้นหรือคริปโท ผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย รวมถึงกรณีมีคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักมาชวนให้ลงทุน อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงได้ในเวลาอันรวดเร็ว และหากชวนคนอื่นได้ก็จะมีโบนัสเพิ่มอีก เจอแบบนี้ไม่น่าไว้วางใจ

เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ไปรู้เท่าทันแชร์ลูกโซ่ ที่แอบอ้าง หุ้นหรือคริปโท กันเลย




5 รูปแบบการชักชวน ที่กลโกงส่วนใหญ่รวมถึง “แชร์ลูกโซ่” มักใช้หลอกลวงหรือจูงใจ หากใครเจอแบบนี้ต้องระวัง! ไว้ก่อน


1. ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ชวนเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุนจำนวนมากอย่างรวดเร็วและง่ายดาย และใช้ เทคนิค กระตุ้นด้วยรูปถ่ายคู่กับเงินก้อนโต หรือรถหรู สร้างความหวังว่าทุกคนเป็นเจ้าของได้ สะกิดต่อมความโลภ

>> เช็กก่อนเชื่อ - ไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และพึงตระหนักว่า การลงทุนที่อาจให้ผลตอบแทนสูง ย่อมมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย


2. การันตีผลตอบแทน บอกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงเท่านั้นเท่านี้เป็นตัวเลขแน่นอน เช่น 10% - 15% ต่อสัปดาห์ หรือ 40% ต่อเดือน

>> เช็กก่อนเชื่อ - ไม่มีการลงทุนไหนที่การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือคริปโทก็ตาม เพราะราคาจะเคลื่อนไหวจากหลายปัจจัย


3. เร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เช่น วันนี้วันเดียวเท่านั้น, เหลือเวลาแค่ 5 นาที หรือเหลือที่ไม่มากแล้ว เพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรองของเรา

>> เช็กก่อนเชื่อ - ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่จะลงทุน ไม่ด่วนตัดสินใจลงทุนจากแรงบีบคั้น และโดยหลัก ผู้แนะนำการลงทุนต้องไม่เร่งรัดการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อให้เวลาลูกค้าคิดให้ถี่ถ้วน


4. อ้างว่าใคร ๆ ก็ลงทุน ถ้าไม่รีบอาจพลาดตกขบวน หรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน ถ้าไม่เข้าร่วมจะตกขบวนความร่ำรวย

>> เช็กก่อนเชื่อ - จริง ๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครมาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับการลงทุนหรือธุรกิจนั้นมีอยู่จริงและถูกกฎหมายหรือไม่


5. ธุรกิจจับต้องไม่ได้ บอกว่าทำธุรกิจแต่ไม่เห็นสินค้า หรือชักชวนลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต อ้างธุรกิจว่าได้รับการรับรอง แต่ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้

>> เช็กก่อนเชื่อ – ควรตรวจสอบว่าเป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นธุรกิจ ณ ตลาดทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัล ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่แอปพลิเคชั่น SEC Check First หรือเว็บไซต์ ก.ล.ต.




หลังจากรู้จัก 5 รูปแบบชักชวนลงทุนที่ต้องระวังไปแล้ว ถ้าหากการชักชวนนั้นได้พ่วงลักษณะเหล่านี้ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเข้าข่ายเป็นกลโกง “แชร์ลูกโซ่” 

  1. เน้นสร้างเครือข่ายมากกว่าขายของ

  2. ให้ชักชวนคนมาร่วมมากๆ 

  3. ได้โบนัสเพิ่ม ถ้าชวนคนมาเป็นสมาชิก เช่น ปกติได้ 10% ต่อสัปดาห์ ถ้าชวนคนได้เพิ่มจะได้อีก 5% ต่อสัปดาห์ เป็นต้น 

แชร์ลูกโซ่ * เป็นกลโกงที่หลอกให้ประชาชนลงทุนหรือซื้อสินค้า โดยอ้างว่า จะได้รับกำไรจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว มักจะจ่ายเงินให้จริงในระยะแรกเพื่อให้หลงเชื่อ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไรเลย 

“เพียงแค่นำเงินของผู้ที่ลงทุนทีหลังมาจ่ายให้กับผู้ที่ลงทุนก่อนเท่านั้น” 


เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้เพิ่มจนไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรือได้เงินจำนวนมากเพียงพอแล้ว ก็จะหลบหนีไปสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก 


โดยแชร์ลูกโซ่ มักแอบอ้างสินค้าหรือบริการต่าง ๆ รวมทั้ง หุ้น คริปโท หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ด้วย หากถูกชักชวนลงทุนต้องระมัดระวังให้มาก และควรลงทุนกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น


* ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 




Tips สร้างเกราะป้องกันภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่หลอกลงทุน

  1. ศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุน มิจฉาชีพมักอาศัยความไม่เข้าใจหุ้นหรือคริปโทเคอร์เรนซี มาชักชวน จึงควรศึกษาความรู้การลงทุน เพราะการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนไม่ได้

  2. มีสติ คิดก่อนตัดสินใจ เมื่อถูกชักชวนให้ลงทุน บีบให้ตัดสินใจ เน้นหาเครือข่ายโดยให้ผลตอบแทนสูง แต่จับต้องธุรกิจนั้นไม่ได้ ต้องระวังให้มาก หากเป็นการชักชวนลงทุน/ระดมทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลควรตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตหรือไม่จากแอปพลิเคชัน SEC Check First

  3. รู้ผลกระทบที่มากกว่าเสียเงิน หากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินไปแล้ว แต่ถ้าเราไปชักชวนคนอื่นมาลงทุนแชร์ลูกโซ่ ก็อาจมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน 

  4. ตื่นตัวและติดตามข่าวสารใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการแชร์ลูกโซ่หรือการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะมีวิธีหลอกลวงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รู้หรือไม่ : กรณี หลอกลวงลงทุนที่เป็น “แชร์ลูกโซ่” และ “ธุรกิจขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่” เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)  




เมื่อพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่น่าสงสัย แจ้งใคร?

หากพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่สงสัยว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

  • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359 

  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202 

  • กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441

หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com​

และหากการชักชวนนั้นเป็นการชวนระดมทุนหรืออ้างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น หุ้น คริปโท สินทรัพย์ดิจิทัล แจ้งเบาะแสมาที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. ได้แก่ (1) โทร 1207 หรือ (2) เฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. (3) SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ www. sec.or.th ​

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ และบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้ที่ SEC Check First ทั้งทางแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ www.sec.or.th 

รวมทั้งสามารถดูรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังได้ที่ investor alert  ที่ลิงก์​นี้ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert

​​​​

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

SEC Help Center

โทรศัพท์ 1207