Sign In
FAQ

​​​​ผู้ประกอบวิชาชีพ (Gatekeeper)

เลขานุการบริษัท

ผู้สอบบัญชี



คุณสมบัติ

Q: พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้ระบุคุณสมบัติเลขานุการบริษัทหรือไม่ เลขานุการควรมีวุฒิการศึกษาหรือความชำนาญในด้านใดเป็นพิเศษ
 
A: กำหนดเพียงหน้าที่และความรับผิดของเลขานุการบริษัทเท่านั้น มิได้กำหนดคุณสมบัติไว้ ดังนั้น การแต่งตั้งเลขานุการบริษัทจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการบริษัทที่จะคัดเลือกผู้ที่คณะกรรมการคิดว่าเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว  


Q: เลขานุการบริษัทเป็นบุคลากรในบริษัท เช่น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน เลขานุการ คณะกรรมการ หรือตำแหน่งอื่นๆ ในบริษัท เป็นต้น ได้หรือไม่
 
A: ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มิได้มีข้อห้ามใดๆ ดังนั้น หากคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งบุคคลใดทำหน้าที่เลขานุการบริษัทก็ได้  อย่างไรก็ดี เจตนารมณ์ในเบื้องต้นของการกำหนดให้มีเลขานุการบริษัทก็เพื่อกำหนดบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำและจัดเก็บรักษาเอกสารสำคัญๆ ของบริษัท ดังนั้น ในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลใดทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัทควรต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถและความเหมาะสมของบุคคลนั้นเป็นสำคัญด้วย


Q: บริษัทจดทะเบียนสามารถจ้างบริษัทอื่นมาทำหน้าที่เลขานุการบริษัทได้หรือไม่ เช่น บริษัทผู้สอบบัญชี บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย หรือนิติบุคคลอื่นๆ เป็นต้น
 
A: ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดข้อห้ามใดๆ ดังนั้น บริษัทอาจตั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นเลขานุการบริษัทก็ได้ โดยในกรณีที่บริษัทตั้งนิติบุคคลเป็นเลขานุการบริษัท บริษัทต้องระบุชื่อเจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลนั้นที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัทด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามแบบ 89/15-1

 
การเเต่งตั้งเลขานุการบริษัท
Q: บุคคลที่เป็นเลขานุการบริษัทจะเป็นเลขานุการบริษัทในหลายบริษัทได้หรือไม่
 
A: ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนแต่งตั้งให้บุคคลภายนอกทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัท อย่างไรก็ดี หากเลขานุการบริษัทเป็นพนักงานประจำของบริษัทเอง การทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัทให้บริษัทอื่นด้วยอาจต้องพิจารณาในเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากบุคคลดังกล่าวอาจไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่


Q: บริษัทสามารถตั้งเลขานุการบริษัทมากกว่า 1 รายได้หรือไม่
 
A: ได้ อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท และทุกคนมีความรับผิดตามกฎหมายเท่ากัน 

Q: ปัจจุบันบริษัทมีเลขานุการบริษัทแล้ว โดยได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย จำเป็นต้องแจ้งให้ สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบอีกหรือไม่
 
A: ตามมาตรา 89/15 กำหนดให้ประธานกรรมการบริษัทต้องแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 14 วันนับจากวันที่บริษัทจัดให้มีผู้รับผิดชอบตำแหน่งดังกล่าว


Q: บริษัทย่อยต้องแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทหรือไม่
 
A: ไม่ต้อง เพราะกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดให้มีเลขานุการบริษัทมิได้ใช้บังคับกับบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน  


Q: ในโครงสร้างองค์กรต้องระบุตำแหน่งเลขานุการบริษัทไว้ด้วยหรือไม่
 
A: ตามกฎหมายหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งต้องมีบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัท แต่จะระบุไว้ในโครงสร้างองค์กรหรือไม่ก็ได้


Q: สำนักงานเลขานุการบริษัทควรจะอยู่ในสายการบังคับบัญชาของฝ่ายจัดการหรือคณะกรรมการด้วยเหตุผลใด
 
A: การกำหนดสายการบังคับบัญชาของเลขานุการบริษัทเป็นไปตามดุลยพินิจของคณะกรรมการบริษัท โดยการกำหนดโครงสร้างใดๆ ก็ตาม ควรเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการบริษัทด้วย ซึ่งโดยทั่วไปเลขานุการบริษัทน่าจะอยู่ในสายการบังคับบัญชาของฝ่ายจัดการมากกว่าคณะกรรมการ เนื่องจากเลขานุการบริษัทไม่ใช่เลขานุการของคณะกรรมการเท่านั้น  


Q: นอกจากแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทแก่ สำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ต้องแจ้งอะไรให้ทราบอีกบ้าง
 
A: สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดแบบฟอร์มแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเลขานุการบริษัทไว้แล้ว คือ แบบ 89/15 – 1 และแบบ 89/15 - 2 ​
 

Q:  เลขานุการบริษัทต้องรายงานประวัติส่วนบุคคล เพื่อเปิดเผยต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลของผู้บริหาร 4 ลำดับแรกต่อจากกรรมการผู้จัดการ ในแบบ 56-1 หรือไม่
 
A: ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนฯ ต้องเปิดเผยชื่อเเละประวัติส่วนบุคคลอื่นๆ ของเลขานุการบริษัทในแบบ 56-1 และรายงานประจำปี เช่นเดียวกับผู้บริหาร​


Q: การแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทและสถานที่เก็บเอกสารล่าช้ามีความผิดหรือไม่
 

A: หากประธานกรรมการบริษัทแจ้งล่าช้า จะต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

อนึ่ง ในกรณีที่เลขานุการบริษัทพ้นจากตำแหน่ง หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งเลขานุการบริษัทคนใหม่ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เลขานุการบริษัทคนเดิมพ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้ประธานกรรมการแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่จัดให้มีผู้รับผิดชอบในตำแหน่งดังกล่าว​



Q:  บริษัทที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการและมีผู้บริหารแผนต้องตั้งเลขานุการบริษัทหรือไม่
 
A: บริษัทที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการก็ต้องตั้งเลขานุการบริษัทตามมาตรา 89/15 ด้วย เนื่องจากมาตรา 89/22 กำหนดให้นำมาตรา 89/7 ถึง 89/21 มาใช้กับผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราวตามกฎหมายล้มละลาย รวมทั้งผู้ชำระบัญชี โดยอนุโลม ดังนั้น ผู้บริหารแผนจึงต้องจัดให้มีเลขานุการบริษัทตามมาตรา 89/15 ด้วย และเลขานุการบริษัทจะต้องทำและเก็บรักษาทะเบียนผู้บริหารแผน หนังสือนัดประชุม และรายงานการประชุมผู้บริหารแผน รวมทั้งรายงานการมีส่วนได้เสียที่รายงานโดยผู้บริหารแผนด้วย

หน้าที่เเละความรับผิดชอบ
 
Q: กรณีที่เลขานุการบริษัทเป็นนิติบุคคล การออกหนังสือนัดประชุม ใครเป็นผู้ลงนามในฐานะเลขานุการบริษัท และเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายจะรับโทษอย่างไร ทั้งไม่เจตนาและเจตนาทุจริต
 
A: หากบริษัทแต่งตั้งนิติบุคคลทำหน้าที่เป็นเลขานุการบริษัท ตามกฎหมายจะถือว่าบุคคลที่เป็นผู้มีอำนาจจัดการของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับผิดชอบแทนนิติบุคคลนั้น ดังนั้น หากมีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น นิติบุคคลนั้นจึงมีความรับผิดตามกฎหมาย สำหรับผู้มีอำนาจจัดการของนิติบุคคลนั้นและผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลนั้นให้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวก็อาจมีความรับผิดตามกฎหมายนี้ด้วย
 
ทั้งนี้ สำหรับการลงนามในหนังสือนัดประชุม โดยปกติเลขานุการบริษัทเป็นเพียงผู้จัดทำหนังสือเชิญประชุม ส่วนผู้ที่ลงนามในหนังสือเชิญประชุมส่วนใหญ่จะเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้จัดการบริษัท


Q: ตามมาตรา 89/15 ให้เลขานุการบริษัทจัดทำรายงานประจำปีด้วย หากปัจจุบันฝ่ายประชาสัมพันธ์เป็นผู้ทำรายงานประจำปีจะต้องย้ายงานมาที่เลขานุการบริษัทหรือไม่ หรือบริษัทควรดำเนินการอย่างไร
 
A: กฎหมายกำหนดให้เลขานุการบริษัทมีหน้าที่จัดทำรายงานประจำปี ซึ่งในทางปฏิบัติเลขานุการบริษัทก็ต้องรวบรวมข้อมูลจากส่วนงานต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำรายงานประจำปี และเลขานุการบริษัทก็อาจมอบหมายให้บุคคลอื่นช่วยดำเนินการด้วยก็ได้ แต่ความรับผิดชอบยังคงเป็นของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขานุการบริษัท


Q: หากเลขานุการบริษัทสงสัยว่ารายการบางรายการมีผลประโยชน์ขัดแย้ง จะสามารถแจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบวินิจฉัยรายการดังกล่าวได้หรือไม่
 
A: ในทางปฏิบัติ หากเลขานุการบริษัทสงสัยว่ารายการบางรายการมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เลขานุการบริษัทควรเสนอแนะให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องก่อน หากบริษัทไม่ดำเนินการ เลขานุการบริษัทอาจแจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบเพื่อดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติให้ถูกต้อง เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ดูแลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เลขานุการบริษัทอาจแจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยก็ได้ โดยจะได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นผู้แจ้งเบาะแสต่อทางการด้วย


Q: กรณีเลขานุการบริษัทได้รับคำสั่งจากกรรมการหรือผู้บริหารให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ที่อาจขัดกับ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยที่เลขานุการบริษัทไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จะถือว่าเลขานุการบริษัทกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และมีโทษหรือไม่
 
A: ในกรณีที่เลขานุการบริษัทได้รับคำสั่งให้กระทำการ / ไม่กระทำการใดๆ ที่เข้าข่าย เป็นการฝ่าฝืนการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ หากเลขานุการบริษัทดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว ก็อาจเข้าข่ายเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วย


การจัดทำเเละเก็บรักษาเอกสาร
 
Q: การเก็บเอกสารต่างๆ ถ้าเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของส่วนงานข้อมูลเครดิตกลาง ซึ่งเลขานุการบริษัทและกรรมการมีอำนาจเปิดเข้าไปดูได้ จะถือว่าเก็บไว้ที่เลขานุการบริษัทแล้ว ช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่บริษัทควรต้องทำอย่างไร
 
A: พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มิได้กำหนดรูปแบบของระบบการจัดเก็บเอกสารของเลขานุการบริษัทไว้ ดังนั้น บริษัทสามารถกำหนดวิธีการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระบบที่สามารถเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และมีระบบป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงเอกสารดังกล่าวได้ รวมทั้งจะต้องสามารถป้องกันการแก้ไข/ปรับเปลี่ยน/ทำลายเอกสารดังกล่าวได้ด้วย


Q:  มาตรา 89/15 และมาตรา 89/17 การจัดเก็บเอกสารสำคัญของเลขานุการบริษัท เก็บด้วยระบบ electronic อย่างเดียวหรือไม่ ต้องเก็บต้นฉบับ / สำเนา ด้วยหรือไม่ เพื่อลดกระดาษและพื้นที่การจัดเก็บ
 
A: การจัดเก็บเอกสารสำคัญของเลขานุการบริษัทสามารถเก็บด้วยระบบ electronic ได้ แต่บริษัทต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดยบริษัทต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่สามารถทำซ้ำหรือทำขึ้นมาใหม่ได้ เช่น มี process ที่ชัดเจน มีระยะเวลาที่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ มีการบันทึก log ของการทำทุกครั้ง และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการมี external audit รับรองว่ามีการทำตามกระบวนการที่กำหนด เป็นต้น สำหรับการจัดเก็บต้นฉบับควบคู่ด้วยนั้น เนื่องจาก พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ยังมิได้มีประกาศที่ชัดเจนว่า การจัดเก็บเอกสารด้วยระบบ electronic อย่างเดียวจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในกรณีมีข้อโต้แย้งได้หรือไม่ ดังนั้น บริษัทควรจัดเก็บต้นฉบับไว้ก่อน จนกว่าจะมีประกาศในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน


Q: กรณีที่เลขานุการของ CFO เป็นผู้เก็บเอกสารสำคัญที่เลขานุการบริษัทจะต้องเก็บอยู่แล้ว ได้แก่ หนังสือนัดประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น จะต้องทำเช่นไร
 
A: ในทางปฏิบัติ หากเลขานุการบริษัทอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นเก็บรักษาเอกสารที่ตนมีหน้าที่ดูแลรักษาก็ได้ แต่เลขานุการบริษัทก็ต้องดูแลให้มั่นใจว่า บุคคลดังกล่าวสามารถจัดเก็บเอกสารดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตามกฎหมาย ความรับผิดในเรื่องดังกล่าวยังเป็นของเลขานุการบริษัท


Q:  ประธานกรรมการสามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ลงนามในหนังสือถึง ก.ล.ต. เพื่อแจ้งชื่อเลขานุการบริษัทและสถานที่เก็บเอกสารได้หรือไม่
 
A: ได้ แต่ควรแนบหนังสือมอบอำนาจมาด้วย ทั้งนี้ หากเคยมีการมอบอำนาจในการส่งเอกสารให้หน่วยงานทางการ เช่น ก.ล.ต. เป็นต้น กันอยู่แล้ว ก็สามารถใช้หนังสือมอบอำนาจเดิมได้


Q: การแจ้งสถานที่เก็บเอกสารให้แจ้งเอกสารย้อนหลังกี่ปี
 
A: ให้แจ้งสถานที่เก็บเอกสารย้อนหลัง 5 ปี หรือตั้งแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ทั้งนี้ ระยะเวลาของเอกสารย้อนหลังที่ขอให้แจ้งนี้ ไม่เกี่ยวกับอายุความตามกฎหมายหรือข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บเอกสารนั้นๆ อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้แจ้งสถานที่เก็บเอกสารย้อนหลังนี้ไม่ได้หมายความว่าเลขานุการบริษัทต้องรับผิดชอบต่อความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารในอดีตทั้งหมดที่แจ้งมา เนื่องจากความรับผิดชอบตามกฎหมายของเลขานุการบริษัทเริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีผลใช้บังคับ (31 สิงหาคม 2551)


Q: ทะเบียนกรรมการจะต้องมีรายละเอียดในเรื่องใดบ้าง
 
A: มาตรา 96 ของ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนฯ กำหนดให้ทะเบียนกรรมการจะต้องมีข้อมูลดังนี้
 
(1) ชื่อ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ และที่อยู่ของกรรมการ
(2) ชนิด มูลค่า เลขที่ใบหุ้น และจำนวนหุ้นที่กรรมการแต่ละคนถือ
(3) วันเดือนปี ที่เป็นหรือขาดจากการเป็นกรรมการ


Q: ในกรณีที่บริษัทไม่ได้เก็บเอกสารบางอย่างไว้แล้ว บริษัทควรดำเนินการทำอย่างไร
 
A: บริษัทควรเริ่มทำให้ถูกต้องกันตั้งแต่ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีผลใช้บังคับ โดยบริษัทที่ไม่เคยเก็บเอกสารบางประเภทในอดีต ก็ควรเริ่มจัดเก็บให้เป็นระบบ สำหรับการแจ้งสถานที่เก็บเอกสารตามแบบ 89/15-1 ก็ให้ระบุข้อมูลว่า “ก่อนปี........ไม่ได้เก็บเอกสาร........ไว้ แต่ตั้งแต่ปัจจุบันเก็บเอกสาร........ ไว้ที่......”
 

Q: ที่ผ่านมากรรมการและผู้บริหารของบริษัทไม่เคยจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสีย ดังนั้น บริษัทจะแจ้งสถานที่จัดเก็บรายงานดังกล่าวอย่างไร 
 
A: เนื่องจากรายงานการมีส่วนได้เสียเป็นรายงานที่กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานให้บริษัททราบตามมาตรา 89/14 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
ค่าตอบเเทน

Q: เลขานุการบริษัทมีค่าเบี้ยประชุมเหมือนกรรมการหรือไม่ หากมีใครเป็นผู้กำหนดและอนุมัติจำนวนเงิน
 
A: ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มีข้อกำหนดในเรื่องค่าตอบแทนเลขานุการบริษัท ดังนั้น จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการในการกำหนดค่าตอบแทนเลขานุการบริษัท
 
​ 

 
คุณสมบัติ
 
Q: เหตุใดจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชี (บุคคล มิใช่เปลี่ยนสำนักงาน)
 
A: เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบการเงินของบริษัทด้วยความเป็นอิสระ เนื่องจากผู้สอบบัญชีคนเดียวที่ทำหน้าที่ให้บริษัทติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดความคุ้นเคย และมองข้ามประเด็นที่สำคัญ

 
หน้าที่ของผู้สอบบัญชีในการแจ้งพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด
 
​Q: การให้ความคุ้มครองผู้ให้เบาะแสแก่ทางการครอบคลุมถึงผู้สอบบัญชีหรือไม่
 
A: รวมด้วย

Q: การกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องรายงานพฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของฝ่ายบริหารถือเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ที่เกินกว่าขอบเขตของผู้สอบบัญชีหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรฐานการสอบบัญชีสากลว่าด้วยการตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริต (ISA 240) ครอบคลุมเฉพาะการตรวจสอบงบการเงินเท่านั้น
 
A: มาตรา 89/25 คาดหวังให้ผู้สอบบัญชีรายงานพฤติการณ์น่าสงสัยที่ตนพบเห็นจากการตรวจสอบงบการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชีทั่วไปเท่านั้น มิได้คาดหวังให้ผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติงานตรวจสอบในส่วนใดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในอนาคตคณะกรรมการกำกับตลาดทุนอาจออกประกาศกำหนดลักษณะพฤติการณ์เพื่อให้ผู้สอบบัญชีใช้เป็นแนวทางในการถือปฏิบัติต่อไป  


Q: การเปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ขัดต่อจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีหรือไม่ และหากไม่สอดคล้องกันต้องยึดกฎหมายใดเป็นหลัก
 
A: ข้อกำหนดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองผู้สอบบัญชีกรณีที่ตรวจพบพฤติการณ์ที่น่าสงสัยจากการปฏิบัติงานสอบบัญชีตามปกติภายใต้มาตรฐานการสอบบัญชีและจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพปัจจุบัน และต้องการรายงานพฤติการณ์ดังกล่าวต่อหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องเพื่อยับยั้งไม่ให้พฤติการณ์หรือความเสียหายลุกลามไป ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวมีถือปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศ และแม้แต่ข้อกำหนดจรรยาบรรณที่เป็นสากลที่กำหนดโดย International Federation of Accountants เองก็ยังระบุว่า นอกจากจะไม่ถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความลับแล้ว ยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องเปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้รู้หรือตรวจพบต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหากมีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมาย จึงเห็นว่ากรณีนี้ไม่อาจพิจารณาได้ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีความขัดแย้งกับจรรยาบรรณผู้สอบบัญชีตั้งแต่ต้น
 

Q: การรายงานของผู้สอบบัญชีตามมาตรา 89/25 ถ้าผู้สอบบัญชีรายงานผ่านหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีหรือทำจดหมายแจ้งฝ่ายบริหารของบริษัทถือว่าผู้สอบบัญชีได้ทำหน้าที่รายงานตามมาตรา 89/25 แล้วหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอต้องทำแบบใด
 
A: กรณีที่ผู้สอบบัญชีรายงานไว้ในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีก็ถือว่าได้มีการรายงานตามมาตรา 89/25 แล้ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีสงสัย แต่ด้วยขอบเขตการทำงานไม่สามารถล้วงลึกถึงข้อมูลในประเด็นที่สงสัยเพื่อสรุปได้ว่าประเด็นที่สงสัยเป็นจริงหรือไม่ ก็ให้แจ้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อดำเนินการ หากคณะกรรมการตรวจสอบรับทราบแล้วไม่ดำเนินการ ก็ให้แจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ทราบ จะถือว่าผู้สอบบัญชีได้ทำตามมาตรา 89/25 แล้ว


Q: รูปแบบพฤติกรรมที่ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ มีนิยามแค่ไหน เพียงใด
 
A: ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติกรรมการกระทำความผิดของ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทหลักทรัพย์ เฉพาะกรณีการทำความผิดในเรื่องต่อไปนี้
    • มาตรา 281/2 วรรคสอง (กรรมการหรือผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต)
    • มาตรา 305 (ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ยึด อายัดไว้ หรือสั่งให้ส่ง)
    • มาตรา 306 (กรรมการหรือผู้บริหารฉ้อโกงประชาชน)
    • มาตรา 308 (กรรมการหรือผู้บริหารยักยอกทรัพย์โดยทุจริต)
    • มาตรา 309 (กรรมการหรือผู้บริหารทำให้สินทรัพย์ของนิติบุคคลเสียหาย)
    • มาตรา 310 (กรรมการหรือผู้บริหารกระทำการเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้)
    • มาตรา 311 (กรรมการหรือผู้บริหารกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยทุจริต)
    • มาตรา 312 (กรรมการหรือผู้บริหารกระทำหรือยินยอมให้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีห รือเอกสาร) และ
    • มาตรา 313 (บทเพิ่มโทษกรรมการหรือผู้บริหารนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับความผิดตาม มาตรา 307 308 309 310) 


Q: พฤติการณ์ที่ต้องรายงานจะต้องมีระดับความสงสัยหรือความร้ายแรงเท่าใด
 
A: ระดับความรุนแรงหรือระดับพฤติการณ์อัน “ควรสงสัย” ที่ต้องรายงานนั้น คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะมีการประกาศกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชียังคงปฏิบัติงานภายใต้ขอบเขตที่ตนพบเห็นจากการตรวจสอบงบการเงินและมาตรฐานการสอบบัญชีปัจจุบันเท่านั้น โดยจะไม่กำหนดให้ต้องปฏิบัติงานตรวจสอบในส่วนใดเพิ่มเติม


Q: ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีมีการแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าว แต่ต่อมาจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทหรือของสำนักงานไม่พบว่าผู้บริหารรายที่กล่าวมีความผิดจริง จะมีการดำเนินการใดกับผู้สอบบัญชีรายดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากอาจพิจารณาได้ว่าทำให้ผู้บริหารรายดังกล่าวเสื่อมเสียชื่อเสียง
 
A: ไม่มี เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ให้เบาะแสแก่ทางการตามที่กล่าวในมาตรา 89/2 ด้วย ในทางกลับกันหากสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจพบว่าผู้สอบบัญชีรู้หรือทราบพฤติการณ์ผิดกฎหมายดังกล่าวในระหว่างการตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชี แต่ไม่แจ้งให้ทราบ อาจเข้าข่ายกระทำความผิด นอกจากนี้ ในด้านของสำนักงาน ก.ล.ต. เอง มีหน้าที่จะต้องเก็บรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าวในทำนองเดียวกับข้อมูลอื่นที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่สามารถนำไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก ยกเว้น กรณีการเปิดเผยตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด ​