Sign In
แนวคิด

​​​​ บทบาทหน้าที่หน่วยงานอื่น​

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 


หลังจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก หลักทรัพย์จะสามารถทำการซื้อขายในตลาดรองได้ก็ต่อเมื่อผู้ออกหลักทรัพย์นั้นได้ยื่นคำขอและได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว

บทบาทสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดังนี้
 
(1) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน และพัฒนาระบบต่างๆ ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์
 
(2) ดำเนินธุรกิจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชี (Clearing House) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ 
     นายทะเบียนหลักทรัพย์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
(3) การดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 
ในด้านการกำกับดูแลกิจการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Center) ขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับ ดูแลกิจการให้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนปัจจุบันรวมทั้งบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเข้าจดทะเบียน จนถึงปัจจุบัน




กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นองค์กรหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้แบ่งงานหลักออกเป็น 4 ด้าน เพื่อปฏิบัติงานในด้านจดทะเบียนและบริการข้อมูลธุรกิจ ด้านส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาธุรกิจและสถาบันการค้า ด้านธรรมาภิบาลธุรกิจ และด้านบริหารทั่วไป 
 
ในเบื้องต้นก่อนจะมาเป็นบริษัทจดทะเบียน จะต้องจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเป็น “บริษัทมหาชน” อันจะทำให้นิติบุคคลดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535  ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญที่เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการ ดังเช่น คุณสมบัติทั่วไปของกรรมการ ต้องบรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ  บทบาทหน้าที่ของกรรมการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงไม่ประกอบกิจการอย่างเดียวกันหรือแข่งขันกับกิจการของบริษัท  อีกทั้ง ระบุถึงสิทธิพื้นฐานของผู้ถือหุ้น เช่น  สิทธิรับเงินปันผล  สิทธิในการเข้าร่วมประชุมถือหุ้น สิทธิในการมอบฉันทะให้คนอื่นเข้าประชุมแทน สิทธิเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อผู้ถือหุ้นมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ หรือผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25 คน ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ และกรณีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  มีสิทธิขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดในวาระการประชุม เป็นต้น




ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485  เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485  มีบทบาทและหน้าที่หลักในการกำกับดูแลเรื่องการเงินของประเทศ ทั้งออกกฎเกณฑ์และควบคุมสถาบันการเงิน นำออกหมุนเวียนซึ่งธนบัตรไทยรวมถึงการควบคุมการถ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราอื่น เป็นต้น 
 
ในส่วนของธรรมาภิบาล ธปท. เห็นว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการของธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มมูลค่าในกิจการ และความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลของธนาคารพาณิชย์มุ่งเน้นเรื่อง บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โครงสร้างของคณะกรรมการ การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส ซึ่งจะเอื้อต่อบทบาทของตลาดในการกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์อันเป็นพื้นฐานของระบบวินัยจากตลาด (Market Discipline)  นอกจากนี้ ธปท. ยังได้จัดทำคู่มือสำหรับกรรมการสถาบันการเงินที่ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบตามหลักธรรมาภิบาล 
​​