Sign In
แนวคิด

​​​​​​​​​​แผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน​ 

(Sustainability Development Roadmap “SD Roadmap”)

​ 
ความเป็นมา 
 
  (1) โดยที่คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติได้เห็นชอบแผนพัฒนาบรรษัทภิบาล ตั้งแต่ปี 2547 และได้มีการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง จน สามารถยกระดับการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance, “CG”) ของไทยไปได้มากแล้ว โดยผลการประเมินจากผู้ประเมินต่างประเทศ ได้แก่ CG WatchCG ROSC และ ASEAN Corporate Governance Scorecard เห็นว่า ตลาดทุนไทยมีเกณฑ์และการปฏิบัติที่ได้ตามมาตรฐานสากลในระดับที่เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับที่สามในเอเชีย แต่ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง โดยเฉพาะในหมวดบทบาทของบริษัทจดทะเบียน (“บจ.”) ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ จึงเห็นควรทบทวนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน 
 
  (2) ประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ของบริษัทเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนและบริษัทในต่างประเทศให้น้ำหนักในประเด็นนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเลือกลงทุน หรือเลือกคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วยนอกเหนือจากเรื่องบรรษัทภิบาล 
 
  (3) สังคมไทยเริ่มตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาคอร์รัปชัน ฯลฯ  ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับบริษัท ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรร่วมกันแก้ไข คณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามแผนกลยุทธ์ 2556-2558  จึงเห็นชอบให้จัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนของ บจ.ขึ้น

การดำเนินงานที่ผ่านมา
 
ก.ล.ต. ได้ยกร่างแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (Sustainability Development Roadmap) และได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้ได้ยกร่างแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (Sustainability Development Roadmap) และได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
 
  (1) รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน  สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลท.”) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 
 
  (2) หารือเพื่อขอความเห็นจากคณะอนุกรรมการ ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ตลท. ซึ่งมี ศ.ดร.หิรัญ รดีศรี เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 
 
  (3) หารือเพื่อขอความเห็นจากสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลท. ซึ่งมี ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการของสถาบันฯ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 และวันที่ 6 ธันวาคม 2556
 
แผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน 
 
จากการประเมินสถานะปัจจุบันที่มีผลต่อการพัฒนาความยั่งยืนสำหรับ บจ. แนวโน้มพัฒนาการของโลก ยุทธศาสตร์ของประเทศที่เกี่ยวข้อง ความท้าทายของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งตระหนักถึงความต้องการ โอกาส ปัญหาและอุปสรรคของภาคส่วนต่าง ๆ ในตลาดทุนไทยแล้ว เห็นว่าแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับ บจ. ควรเน้นให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ
 
  • CG in substance  เสริมสร้างให้คณะกรรมการและผู้บริหารของ บจ. สร้างผลการดำเนินงานที่ดีให้กิจการอย่างยั่งยืนและน่าเชื่อถือ 
  โดยเน้นการปฏิบัติอย่างจริงจัง
 
  • CSR in process  การดำเนินธุรกิจปกติประจำวันของ บจ. เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นแรงผลักดันให้ 
  ภาคเอกชนอื่นดำเนินการด้วย
 
  • Anti-corruption in practice บจ. เป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่คอร์รัปชันให้ภาคธุรกิจไทยได้ 

โดยมีเส้นทางการพัฒนา 8  เส้นทาง ดังนี้ 

เส้นทางการพัฒนา 8 เส้นทาง

ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยได้จัดจัดทำแผนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน และผนวกเป็นหนึ่งในเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.​​